Disable Preloader




ทริป 10 วัน คันไซ ใบไม้แดง : ตอนที่ 4 - ไปแช่ออนเซ็นเก่าแก่ 1,300 ปี ที่หมู่บ้าน Kanosaki Onsen

มาถึงเช้าวันที่ 4 ของการเดินทาง ซึ่งต้องนั่งรถไฟ 2 ชั่วโมง 50 นาที โดยเราใช้ Kansai Wide Area Pass สามารถใช้นั่งรถไฟในเส้นทางนี้ จากสถานี SHINOSAKA มุ่งสู่สถานี KINOSAKIONSEN โดยเลือกดูเที่ยวรถไฟจาก www.hyperdia.com ไว้ล่วงหน้าแล้ว และเลือกที่จะเดินทางตั้งแต่เช้าด้วยขบวน Limited Express Konotori 3 แม้ว่าจะใช้ Pass ใบนี้เพื่อนั่งรถไฟได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ทว่าจะนั่งได้เฉพาะตู้ที่เป็น Non Reserved เท่านั้น เพราะไม่สามารถใช้จองและนั่งในตู้ที่ระบุที่นั่ง พวกเราจึงต้องเผื่อเวลา เพื่อมายืนรอเข้าคิว เพราะไม่แน่ใจว่ารถไฟในตู้ Non-Reserved นั้นจะมีผู้โดยสารมากหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีที่นั่ง นั่นหมายถึงเราอาจต้องยืนบนรถไฟเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งไม่ดีแน่ๆ (จากภาพ จะต้องนั่งในตู้โบกี้ที่ 3 หรือ 4 เท่านั้น)

ถ้าเลือกขบวนอื่น ก็ต้องเปลี่ยนขบวนอีก หรือไม่ก็ต้องขยับเวลาออกไป นั่นหมายถึงเราจะมีเวลาเที่ยวในเมืองออนเซ็นชื่อดังแห่งนี้น้อยลงไปอีก ยังดีที่เราฝากกระเป๋าใบใหญ่ไว้ที่โรงแรมที่เราพักที่ Osaka และนำเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเล็ก ซึ่งเราจะไปค้างคืนที่เมือง Kinosaki Onsen (城崎温泉) และอีกคืนที่ Amanohashidate แล้วจึงกลับไปพักที่โรงแรมเดิมใน Osaka อีก ซึ่งวิธีนี้ทำให้เราไม่ต้องลากกระเป๋าให้เป็นภาระหนักอึ้ง

นั่งรถไฟชมวิวข้างทางไป พอเพลินๆ ราว 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็มาถึงเมือง Kinosaki Onsen (城崎温泉) "คิโนซากิอนเซ็น" อีกหนึ่งเมืองออนเซ็นชื่อดังในแถบคันไซ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเฮียวโกะ (Hyogo Prefecture) และเป็นเมืองที่ตั้งใจจะมานานแล้ว ด้วยภาพต้นหลิวข้างคลองของเมือง อีกทั้งเป็นเมืองที่มีบ่อออนเซ็นมงคลถึง 7 บ่อ ก็ได้มาถึงดังตั้งใจ เริ่มด้วยการจิบน้ำแร่อุ่นๆ เป็นการต้อนรับเข้าเมือง และมองเห็นประติมากรรมก้ามปู ซึ่งมีความหมายถึง เมืองแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องปูมัตสึบะ (Matsuba) ซึ่งมีมากที่เมืองนี้ในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม นั่นเอง เมื่อเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพแถวสถานีรถไฟแล้ว เราก็เดินต่อไปยังเรียวกังที่เราจองไว้ชื่อ "Ougiya Ryokan" ซึ่งเดินไปไม่ไกลจากสถานีรถไฟ KINOSAKIONSEN

เมื่อเดินเท้าถึงเรียวกัง คุณป้าที่ดูแลเรียวกัง ออกมาต้อนรับ ซึ่งเราฝากกระเป๋าไว้ก่อนเช็คอินในเวลา 15:00 น.

ค่าที่พักตกคืนละ 3,760 บาท ต่อห้อง ต่อคืน ถือว่าเป็นราคาที่ยอมรับได้ เพราะที่พักอื่นๆ ค่อนข้างราคาแพง ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะพักแบบ Half-Board ซึ่งรวมอาหาร 2 มื้อ แต่ก็เปลี่ยนใจไว้ไปพักแบบ Half-Board ที่ Arima Onsen แทน เพื่อใช้เวลาในการแช่ออนเซ็นตลอดบ่ายถึงค่ำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีมากถึง 7 บ่อมงคล

หากดูจากแผนที่ จะเห็นว่าโรงอาบน้ำแบบออนเซ็น จะเรียงรายไปตามคลองโอตะนิ (Otani River) ที่พาดผ่านกลางเมือง ตามตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีนกกระสาบินมารักษาอาการบาดเจ็บในบึงน้ำแห่งหนึ่ง ว่ากันว่า น้ำในบึงน้ำแห่งนั้นสามารถช่วยรักษาอาการบาดเจ็บและโรคภัยต่างๆ ได้ และบึงน้ำแห่งนั้นก็คือที่ตั้งของ "คิโนซากิออนเซ็น" ในปัจจุบันนั่นเอง ตำนานของคิโนซากิออนเซ็นเกิดขึ้นในช่วงราวๆ ปี ค.ศ. 717 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยนาราในญี่ปุ่น เมื่อ โดจิ โชนิน (Douchi Shonin) พระจากเมืองนาราเดินทางมาที่เมืองคิโนซากิ เพื่อหวังจะเปิดออนเซ็นรักษาโรคสำหรับช่วยเหลือชาวบ้านตามตำนานนกกระสา ทว่าเมื่อมาถึงแล้วก็ไม่ทราบว่าตำแหน่งของบ่อออนเซ็นอยู่ตรงจุดไหน วันหนึ่งฝันเห็นชายชรามาบอกบริเวณที่ตั้งของบ่อน้ำพุร้อนว่าอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองคิโนซากิ ​หลังจากนั้น "พระ โดจิ โชนิน" จึงเดินทางไปยังบริเวณที่ชายชราในฝันบอก ทว่าเมื่อไปถึงแล้วก็ยังไม่อาจจะรู้ได้ว่าตำแหน่งที่ตั้งของบ่อออนเซ็นอยู่ตรงจุดไหน "โดจิ โชนิน" จึงเริ่มต้นสวดมนต์ทุกวัน ในที่สุดก็เกิดปาฏิหารย์ขึ้นในวันที่ 1,000 พอดี เมื่อมีน้ำพุร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน แล้วตำนานของ "คิโนซากิออนเซ็น" เพื่อการรักษาโรคของพระจากนารา ก็เริ่มต้นขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้น คิโนซากิก็กลายเป็นแหล่งออนเซ็นที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในหมู่ซามูไร ในช่วงสมัยเอโดะ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยในยุคนั้นจะเรียก "คิโนซากิออนเซ็น" ในอีกชื่อหนึ่งว่า "ไคไดได อิจิเซ็น" (Kai Dai Dai Ichisen) ซึ่งถือเป็นออนเซ็นที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นในยุคนั้น เพราะนอกจากสรรพคุณของน้ำพุร้อนจะดีมากแล้ว ที่นี่ยังเป็นย่านพักผ่อนและย่านท่องเที่ยวที่มีทั้งที่พัก ร้านอาหาร และสถานบันเทิงครบครัน หลังจากยุคเอโดะ "คิโนซากิออนเซ็น" มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งย่านออนเซ็นที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นเฉกเช่นในปัจจุบัน

แต่ทว่าก่อนถึงเวลาแช่ออนเซ็น เราขอเดินสำรวจและมองหาร้านอาหารกันก่อน ต้องเดินตามหาปููมัตสึบะ เพื่อลิ้มรสกันสำหรับมื้อเที่ยงของวันนี้ เดินไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นสีสันของใบไม้เปลี่ยนสี ต้นแปะก๊วย (Ginkgo) สีเหลืองไปทั้งต้นในศาลเจ้า จึงถือโอกาสไปเก็บภาพกันไว้ก่อน ลืมความหิวไปชั่วขณะ

เมื่อเดินผ่านย่านร้านค้าไปเรื่อยๆ ก็ไปสะดุดกับร้านอาหารกับเมนูหน้าร้าน ก็ตัดสินใจหม่ำที่ร้านนี้แล้วกัน ซึ่งพ่อครัวคนเดียว ปรุงอาหารมาเสริฟให้รวม 4 ที่ ฟินกันไปตามระเบียบด้วยความสดอร่อยของอาหารทะเล เมื่ออิ่มหนำกันแล้ว ก็เดินเที่ยวต่อไปยัง วัดโกคุราคุ (Gokuraku Temple) ซึ่งมีกระเช้าที่สามารถนั่งขึ้นไปยัง วัดออนเซ็นจิ (Onsenji Temple) วัดเก่าแก่ประจำเมือง ตั้งอยู่บนเขาทางตะวันตกของเมือง ซึ่งในอดีตมีธรรมเนียมว่า ต้องมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน จึงจะไปแช่บ่อน้ำร้อนได้ แต่เนื่องจากเราอยากทำสถิติในการแช่ออนเซ็นกันให้ครบทั้ง 7 บ่อ จึงเดินย้อนกลับมายังเรียวกัง เพื่อมาเช็คอิน และจัดแจงแปลงกายด้วยชุดยูกะตะ เพื่อออกไปเดินถ่ายรูปก่อนจะมืด จึงไม่สามารถปฏิบัติได้ตามธรรมเนียมโบราณ

คุณป้าที่เรียวกัง เตรียมบัตรสำหรับการแช่ออนเซ็นได้ตลอด 1 วัน ในเมืองแห่งนี้ โดยใช้ QR Code ในบัตรที่เราได้ สแกนที่หน้าทางเช้าโรงออนเซ็นแต่ละแห่ง และได้สอบถามคุณป้าที่เรียวกัง ให้ช่วยเนะนำว่า บ่อไหนที่ต้องแช่และห้ามพลาดเรียงตามลำดับ ซึ่งเราก็ได้เดินสำรวจด้านนอกไว้บ้างแล้ว

เดินเท้าจะเรียงกังด้วยเกี๊ยะไม้ ดังก๊อกแก๊กๆ ไปบนพื้นถนน ประมาณ 30 เมตร ก็ถึงคลองและสะพานที่เป็นมุมมหาชนที่ใครมาก็คงต้องมีภาพประทับใจกันที่มุมนี่ ซึ่งต้องถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกัน บรรยากาศเหมือนได้ย้อนไปในอดีต เพราะนักท่องเที่ยวต่างก็สวมชุดยูกะตะกันทั้งนั้น เดินไปมาตลอด 2 ฝั่งคลอง Otani มือถ็หิ้วตะกร้าหวาย พร้อมสำหรับการไปแช่ออนเซ็นกัน

7 บ่อออนเซ็นที่มีชื่อเสียงในเมืองคิโนซากิ (城崎温泉) มีดังต่อไปนี้

บ่อที่ 1 คือ ซาโตะโนะยุ (Satono-yu) ออนเซ็นวาไรตี้ที่มีทั้งซาวน่า อ่างจากุซซี่ และบ่อกลางแจ้ง ตามรูปแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ผสมผสานกับแบบโรมัน
บ่อที่ 2 คือ จิโซยุ (Jizou-yu) ออนเซ็นที่ตั้งชื่อตามเทพผู้ดูคุ้มครองเด็กๆ เชื่อกันว่าการแช่อนเซ็นที่บ่อนี้ จะทำให้ครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้าและปลอดภัย
บ่อที่ 3 คือ ยานางิยุ (Yanagi-yu) ออนเซ็นบ่อเล็กที่สุดในบรรดา 7 บ่อ บรรยากาศอบอุ่นแบบดั้งเดิม ชื่อ "ยานางิ" นี้ มีที่มาจากต้นยานางิหรือต้นหลิวที่ปลูกอยู่ตามรายทางเลียบคลองในย่านนี้ เป็นอนเซ็นที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้เด็กทารกมีสุขภาพดี
บ่อที่ 4 คือ อิจิโนะยุ (Ichino-yu) ออนเซ็นที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของย่านคิโนซากิ บ่อนี้ได้รับการออกแบบและตกแต่งใหม่ในปี ค.ศ.1999 บรรยากาศภายในบ่ออนเซ็นในร่มให้อารมณ์คล้ายๆ บรรยากาศของถ้ำอนเซ็นกลางแจ้ง เป็นอนเซ็นที่เชื่อกันว่าถ้านักเดินทางแวะอาบแล้วจะทำให้แคล้วคลาดจากภยันตราย
บ่อที่ 5 คือ โกะโชโนะยุ (Goshono-yu) บ่อออนเซ็นที่ใหม่และใหญ่ที่สุดในบรรดา 7 บ่อ ไฮไลต์ คือ บรรยากาศแบบน้ำตกออนเซ็นที่บ่อกลางแจ้ง เป็นออนเซ็นที่จะนำมาซึ่งความโชคดีสำหรับคนที่กำลังตามหาคู่ครอง รวมไปถึงการคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากอัคคีภัย
บ่อที่ 6 คือ มังดาระยุ (Mandara-yu) เสน่ห์แห่งความเงียบสงบในบรรยากาศดั้งเดิม คือจุดขายของออนเซ็นแห่งนี้ เป็นอนเซ็นที่จะนำมาซึ่งความโชคดีสำหรับผู้ที่จะทำธุรกิจและการทำเกษตรกรรม
บ่อที่ 7 คือ โคโนะยุ (Kouno-yu) บ่อออนเซ็นที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาออนเซ็นทั้ง 7 บ่อ เป็นอนเซ็นกลางแจ้งที่เคยเป็นโรงอาบน้ำแห่งแรกในเมืองคิโนซากิ กล่าวกันว่านี่คือ บ่อออนเซ็นที่ถูกเล่าขานกันในตำนานที่มีพระจากนารานำมาใช้รักษาอาการป่วยไข้ให้ชาวบ้าน ด้วยบรรยากาศอันแสนเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติและอากาศอันแสนสดชื่น โคโนะยุจึงเป็นอีกหนึ่งบ่อออนเซ็นที่ควรค่าแก่การมาแช่ให้ได้สักครั้ง หลายคนเชื่อกันว่าอนเซ็นแห่งนี้จะช่วยให้คู่สามีภรรยาครองรักกันอย่างมีความสุข

และนี่ก็คือเรื่องราวของออนเซ็น 7 บ่อมงคลที่ขึ้นชื่อแห่งย่านคิโนซากิออนเซ็น

อยากถือโอกาสแนะนำบ่อ (Noyu) ที่ไม่ควรพลาด (ดูจากแผนที่) ได้แก่ Goshono-yu ซึ่งเป็นการแช่ออนเซ็นใต้ต้นเมเปิ้ล (Maple) ที่กำลังเปลี่ยนสี โดยตัวอาคารมีความใหญ่โตสวยงามภายนอก, Ichono-yu แช่ออนเซ็นในถ้ำ และ Satono-yu ที่มีความหลากหลายสไตล์ยุโรป เสาแบบโรมัน และดาดฟ้าที่แช่ออนเซ็นชมพระจันทร์เต็มด้วย เป็นต้น แต่เราก็แช่ที่ Yanagi-yu และ Jizo-yu ด้วย รวมทั้งสิ้น 5 บ่อ จากทั้งหมด 7 บ่อ ถือว่าเพียงพอก่อนจะเปื่อยไปมากกว่านี้

บ่อที่เห็นเป็นฉากหลังในภาพนี้ ก็คือ Ichono-yu แช่ออนเซ็นในถ้ำ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่มาเมืองนี้ ต้องไม่พลาดการแช่ในบ่อนี้ และบ่อ Goshono-yu อีกด้วย และถ่ายภาพบนสะพานซากุระ (Sakura Bridge)

เรานัดหมายกันประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อเลือกร้านอาหารสำหรับมื้อค่ำ ก็มาหยุดที่ร้านอาหารอิตาเลี่ยน ด้วยเพราะต้องการอาหารที่เพิ่มพลังงาน หลังจากถูกสลายไปมากจากการแช่ออนเซ็นมาแล้วถึง 5 บ่อ แต่ก็อิ่มอร่อยกันเต็มที่ ก่อนจะเดินกลับไปที่เรียวกัง เพื่อพักผ่อนเตรียมแรงสำหรับวันพรุ่งนี้

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องออกมาสู้กับความหนาว เนื่องจากเป็นเมืองที่ล้อมด้วยภูเขาและมีลมหนาวพัด เพราะอยู่ใกล้ทะเล เพื่อแลกกับการถ่ายภาพแสงสวยๆ ยามค่ำคืนของเมืองคิโนซากิออนเซ็น กับบรรยากาศเงียบสงบ ก่อนเข้านอนเพื่อเติมพลัง

ตั้งโทรศัพท์มือถือปลุกตอนเช้า เพื่อออกไปเดินถ่ายภาพตลอดริมสองฝั่งคลอง ซึ่งเมืองนี้มีความเงียบสงบ มีมุมถ่ายภาพมากมาย มองเห็นใบไม้เปลี่ยนสีบนภูเขาพร้อมเมฆหมอกลอยผ่าน

ผู้คนก็เดินมาในชุดยูกะตะพร้อมถุงหรือตะกร้า เพื่อไปแช่่ออนเซ็นกัน รวมไปถึง การแช่เท้ากัน นอกโรงออนเซ็น

เช้านี้เราต้องไปขึ้นรถไฟในเวลา 09:33 น. จึงต้องทำเวลาถือโอกาสเดินเที่ยวไปตามแนวคลอง ถ่ายรูปกันพอเพลิน และซื้อแซนวิสพร้อมกาแฟ ใน Family Mart ใกล้ๆ กับเรียวกัง ซึ่งเหตุผลที่ไม่เลือกอาหารเช้าในที่พัก เพราะอยากมีเวลาเที่ยวช่วงเช้าก่อนเดินทางกันต่อ

ก่อนเดินย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟ และแสดงเล่ม Kansai Wide Area Pass ให้เจ้าหน้าที่รถไฟ เพื่อผ่านประตูไปยืนรอรถไฟที่ชานชาลา เพื่อรอขบวน Limited Express Konotori 12 เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานี TOYOOKA (HYOGO) และต้องมีเวลา 9 นาที ในการเปลี่ยนไปใช้รถไฟท้องถิ่น Kyoto Tango Railway ขบวน Miyamai/Miyato Line for NISHIMAIZURU เพื่อไปยังจุดหมายที่สถานี AMANOHASHIDATE กัน ... ไว้มาติดตามกันต่อนะ

Camera : Samsung Galaxy S7/S6, Lumix TZ90, GoPro Hero7 Black

www.taweesak.in.th