หากถามว่าประเทศใดในขณะนี้ที่คนไทยให้ความสนใจอยากไปท่องเที่ยวกัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับต้นๆ หรืออาจเป็นอันดับแรกของใครต่อใครอย่างแน่นอน ด้วยความสวยงามทางธรรมชาติ ความอ่อนโยนทางวัฒนธรรมอันดี ความเป็นระเบียบซึ่งน่าจะได้เก็บเกี่ยวกลับมาปฏิบัติใช้ในบ้านเมืองของเราได้ดี
ทำให้เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนก่อนหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา จึงถือโอกาสกลับไปท่องเที่ยวในตอนกลางของประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งนี้เลือกการเดินทางโดยบินเข้าทาง Osaka แต่ท่องเที่ยวหลายๆ เมืองและบินออกทาง Tokyo ซึ่งเป็นเส้นทางที่อยากแนะนำมากๆ โดยเฉพาะใครที่ยังไม่เคยมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาก่อน เพราะจะได้เที่ยวอย่างจุใจหลากหลายบรรยากาศจากตะวันตกจรดตะวันออกในตอนกลางของประเทศ
มีหนึ่งเมืองที่มาท่องเที่ยว นั่นก็คือ เมืองนารา หรือเมืองนาระ (Nara-ken) 奈良県 เป็นจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในภาคคันไซ มีเมืองหลวงจังหวัดในชื่อเดียวกันคือ นะระ ซึ่งในอดีตเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 1,300 ปีก่อน
แต่จุดที่ทำให้เมืองแห่งนี้มีชื่อเสียง น่าจะเป็นเพราะ "กวาง" ใช่แล้วน้องกวางที่เชื่องมีจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะมองไปทางมุมไหน จะมีกวางเดินไปมาอย่างอิสระ สามารถซื้อขนมของกวางที่มีขายตามร้านทั่วไปในอุทยาน เป็นแป้งแผ่นๆ คล้ายขนมกล้วยหอมอัด ญี่ปุ่นเรียกขนม ชิกะเซมเบะ คอยป้อนให้กวางกิน กวางบางตัวกินแล้วยังไม่พอ จะเอาจมูกมาดุนๆ หรือไม่งั้นก็งับๆ เบาๆ
กว่า 70% ของกวางจะเป็นเพศเมีย ซึ่งจะไม่ดุร้ายเหมือนเพศผู้ที่จะมีเขาและอาจจะต่อสู้กัน
เห็นแดดแรงขนาดนี้ อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณไม่ถึง 20 องศาเซลเซียส ซึ่งกำลังสบายและดีใจที่ได้ฟ้าสวย ทำให้ได้ถ่ายภาพได้อย่างจุใจ
กวางในสวนของอุทยานเมืองนาราเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นพาหนะของเทพเจ้าแห่งศาลเจ้า Kasuga ที่ตั้งอยู่ด้านในของภูเขา
แต่เนื่องจากปล่อยให้อยู่แบบธรรมชาติ กวางเหล่านี้ยังถือว่าเป็นสัตว์ป่า ที่จะมีเพียงกวางบางส่วนที่จะคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวทีผ่านมามากมายในแต่ละวัน แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่จะมีโอกาสทำอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน
ด้วยความโชคดีที่ปีนี้มีอากาศหนาวมากในช่วงต้นปี ทำให้ดอกซากุระบานช้ากว่าปกติไปประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้ช่วงเวลาที่มาถึงเป็นช่วงที่บานเต็มที่พอดี ซึ่งพยายามลุ้นจากพยากรณ์การชมซากุระของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะพยากรณ์ได้แม่นยำล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน คือ ประมาณเดือนมีนาคม แต่เรากำหนดเลือกวันท่องเที่ยวกันตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ต้องลุ้นสนุกๆ กัน
แต่ก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะแต่ละเมืองที่ผ่านในทริปนี้ ได้พบกับดอกซากุระ ดอกท้อ ดอกบ้วย ที่บานสะพรั่งตลอดทริปในแต่ละวัน อีกทั้งไม่เจอฝนซึ่งตลอดสัปดาห์ก่อนหน้า ฝนตกเกือบทุกวัน
เดินทางมาถึง วัดโทไดจิ (東大寺) ซึ่งวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ เมืองนารา ใกล้กับสวนสาธารณะนารา เป็นวัดพุทธ และเป็นศูนย์กลางของนิกายเคกอน มีองค์พระไวยโรจนะเป็นพระอาทิพุทธในนิกาย และเป็นพระประธานของวัดแห่งนี้
ระหว่างเดินเข้าวัดจะได้รับการล้อมหน้าล้อมหลังจากฝูงกวางที่มาขอขนม โดยปกติกวางจะใช้ชีวิตโดยกินหญ้าที่ขึ้นอยู่ในบริเวณโดยรอบอุทยาน ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจจะซื้อขนมของกวางที่มีขายมาป้อน แต่ไม่ควรให้อาหารของมนุษย์ เช่น ขนมปัง หรือ ขนมคบเคี้ยว รวมถึงทิ้งขยะลงถังให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้กวางเผลอกินเข้าไป และหลายครั้งที่กวางอาจจะเข้ามางับจากทางด้านหลังเมื่อเห็นถุงพลาสติกหรือกระดาษที่กวางมักเข้าใจผิดว่าเป็นของกินและกลืนลงไปเลยที่เป็นสาเหตุทำให้กวางป่วยได้
นักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่เดินทางมาสักการะหลวงพ่อโตแห่งเมืองนารา และพากันเล่นกับฝูงกวางเหล่านี้ โดยเฉพาะในวันหยุดที่มีครอบครัวชาวญี่ปุ่นแวะมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะมาเที่ยวเป็นครั้งแรกจึงจำเป็นที่จะต้องมีความระมัดระวังและให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาดและดูแลกวางเหล่านี้ให้อยู่กับอุทยานแห่งนี้ไปนานๆ
เดินผ่านเข้ามาภายในเพื่อไปยัง วิหารหลวงพ่อโต (大仏殿) ว่ากันว่าเป็นอาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน และถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ที่ว่าเป็นอาคารไม้ที่ใหญ่ยิ่งแล้ว วิหารหลังเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อยุคแรกที่ก่อนถูกไฟไหม้ไป มีความกว้างขวางกว่าปัจจุบันนี้ 3 เท่า และที่ด้านข้าง ซ้าย-ขวา ของวิหาร ก็ยังเคยมีเจดีย์ 7 ชั้น ที่มีความสูงกว่า 100 เมตร ประดิษฐานอยู่ด้วย
เดิมเริ่มแรกวัดนี้ มีชื่อเรียกแตกต่างไปมากมายตามแต่ละสมัยและความสำคัญ
แต่ชื่อวัดโทไดจิ ได้มีปรากฏในจดหมายเหตุ ในสมัยเทมเปียว (天平) ปีที่ 19 (ปี ค.ศ. 747) ในยุคของจักรพรรดิโชมุ (聖武天皇) ได้มีพระราชดำริสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เพื่อขจัดปัดเป่าโรคระบาดร้ายที่คุกคามผู้คนในยุคนั้น
เมื่อเข้าไปในศาลเจ้าของญี่ปุ่น เราจะต้องชำระล้างร่างกายก่อนเข้าไปสักการะบูชา เริ่มจากชำระล้างมือซ้าย จากนั้นจึงชำระล้างมือขวา ท้ายสุดจึงใช้น้ำบ้วนปากเล็กน้อย ในนการบ้วนปากนั้น ให้ใช้มือซ้ายรองน้ำจากกระบวยแล้วจึงนำไปจรดที่ริมฝีปาก ไม่ใช่การใช้ริมฝีปากจิบน้ำจากกระบวยโดยตรง ตอนบ้วนน้ำออก อาจใช้ฝ่ามือปิดปากเพื่อเป็นมารยาท
ตอนก้าวขึ้นบันไดที่จะเข้าสู่บริเวณสักการะในศาลเจ้านั้น ให้เริ่มก้าวขาจากขาซ้ายขึ้นก่อน ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว นิยมให้เริ่มก้าวขาข้างที่ห่างจากเทพเจ้าขึ้นก่อน แต่ในกรณีที่เข้าสู่ศาลเจ้าจากด้านหน้านั้นจะต้องเริ่มก้าวขาจากขาซ้ายก่อน อนึ่ง การกราบไหว้จากบริเวณนอกศาลเจ้านั้น เรียกว่า การสัการะอย่างง่าย ส่วนการกราบไหว้ในตัวศาลเจ้านั้นรียกว่าการสักการะอย่างเป็นทางการ
ในตอนแรก พื้นที่การจัดสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ที่เมืองชิงาระคิ (紫香楽宮) อันเป็นเมืองที่ประทับขององค์จักรพรรดิ แต่ทว่าต่อมาได้มีการย้ายเมืองหลวงกลับมาที่นารานี้ การสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้จึงได้ถูกย้ายมาจัดสร้างขึ้นในพื้นที่ของวัด โทไดจิในปัจจุบัน
พื้นที่ที่ใช้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ เป็นพื้นที่ของพระอาจารย์โรเบ็น (良弁僧正) แต่ด้วยการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ และผู้ที่มีความรู้ความสามารถในศาสตร์จากหลายๆ แขนง จึงได้นิมนต์หลวงพ่อเกียวกิ (行基) ซึ่งเป็นพระที่มีผู้คนให้ความนับถือศรัทธามากมาเป็นประธานในการจัดสร้าง
แต่ก่อนที่การสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้จะแล้วเสร็จ หลวงพ่อเกียวกิกลับมรณภาพไปเสียก่อน จึงได้นิมนต์พระโพธิเสน (菩提僊那) พระอรหันต์จากอินเดียมาเป็นพิธีในการเบิกเนตร ในปี ค.ศ. 752 แล้วหลังจากนั้นถึงได้มีการเริ่มสร้างวิหารครอบองค์พระตามมา แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 758
ด้วยความที่วัดโทไดจิแห่งนี้ มีอายุมากกว่า 1,200 ปี แล้ว จึงเป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่าง มาก มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงใหญ่ๆในญี่ปุ่น 4 เรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดโทไดจิ คือ การเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง การเปลี่ยนแปลงการจัดการนิกายทางพุทธศาสนา การเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบวัด และการเปลี่ยนแปลงทางศิลปะ
ตัววิหารหลวงพ่อโต เชื่อมต่อกับระเบียงคต ที่จะพาไปสู่ทางเข้าทางออก เมื่อออกมาจากระเบียงคตนั้นแล้ว หากย้อนกลับมาในส่วนที่เป็นฉนวนทางเดินกลางตรงกับประตูหน้าวิหาร ฉนวนทางเดินนี้ก็จะพาไปสู่ซุ้มประตูนันไดมง (南大門) ซึ่งเป็นซุ้มประตูที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 962 แต่ว่าถูกพายุไต้ฝุ่นพัดทำลายไป ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1199 มีลักษณะโครงสร้างของช่างตระกูลจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋) และที่โดดเด่นที่สุดายซุ้มประตูนี้มีการประดิษฐานเทพทวารบาลไม้แกะสลัก อา (阿) และ อุน (吽) ที่มีความวิจิตรงดงามมาก
ออกจากบริเวณระเบียงคตนั้นจะเป็นบริเวณสวน เจอเข้ากับกวางเล็มหญ้าอยู่
เดินตามฝูงกวาง เพื่อหามุมบันทึกภาพใต้ต้นซากุระ ถือว่ากวางเหล่านี้มีส่วนในการโปรโมทวัดแห่งนี้อีกทางหนึ่ง
แถมยังไม่กลัวคนอีกด้วย กวางเหล่านี้ถือเป็นสมบัติของชาติ โดยที่กวางทั่วไปจะเชื่อง ภายในรอบๆ อุทยานจะมีป้ายประกาศเตือนนักท่องเที่ยวตามลักษณะดังภาพด้านขวาที่ไม่ควรทำร้ายหรือทำให้เหล่ากวางตกใจ
เก็บภาพนางแบบ น้องกวาง อย่างจุใจ
ใต้ต้นซากุระ เวลาที่มีลมพัดเอื่อยๆ จะมองเห็นกลีบดอกซากุระ ร่วงไหลเป็นทางยาว
เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่วงเวลาของการชมดอกซากุระ จะมีเวลาเพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ เพราะกลีบดอกจะร่วงเพราะแรงลม หรือมีฝนตกบ้าง อีกทั้งใบไม้ที่เริ่มผลิออกมาแทนที่ จึงเป็นช่วงเวลาที่ประทับใจและเป็นความทรงจำที่ไม่ลืมเลือน
หลังจากถ่ายแบบ น้องกวาง แล้ว ได้มีโอกาสถ่ายภาพคนญี่ปุ่นที่สวมใส่ชุดกิโมโน ที่กำลังโพสต์ท่าถ่ายภาพกับเพื่อนๆ
ต้องขอชื่นชมคนรุ่นใหม่ ก็ยังใส่ใจและสวมใส่ชุดประจำชาติมาที่วัด ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ชุดประจำชาติที่งดงาม จะยังคงสืบทอดต่อไปรุ่นต่อรุ่นอย่างแน่นอน
ได้เวลานัดหมายกับกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อกลับมาเจอกันที่รถ แต่ก็อดใจไม่ถ่ายภาพกวางตัวหนึ่งที่กำลังทำอะไรอยู่
คงไม่ได้กำลังจะทดลองความแข็งแกร่งของฟันกระมัง คงจะเป็นเคล็ดลับการทำให้ฟันแข็งแรง
หรือคิดเล่นๆ ว่า คงมีอะไรติดฟันอยู่ กำลังหาทางแปรงฟันอยู่เป็นแน่ ถือเป็นสถานที่ได้มีโอกาสมาสักการะองค์พระใหญ่ ได้ชมซากุระบานสะพรั่งโดยรอบ และยังได้พบกับฝูงกวางที่เชื่อง สร้างความประทับใจได้อีกด้วย