Disable Preloader




ชิราคาวาโกะ ก็แค่หมู่บ้านชาวนา แต่ใครๆ ก็อยากมาเยือน

จากจุดเริ่มต้นความคิดที่อยากไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นในทริปที่ผ่านมา มีชื่อของหมู่บ้านชิราคาวาโกะ Shirakawa-go(白川郷;しらかわごう)ผุดขึ้นมาเป็นอันดับแรกที่อยากไปเยือน ทำให้พยายามมองหาโปรแกรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่พาไปสถานที่แห่งนี้ด้วย

เพราะเคยเห็นภาพบรรยากาศฤดูหนาวของหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเชื่อว่าหากผู้ที่ได้เห็นภาพเหล่านี้ก็อยากมาท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน แต่ทว่าคงหนาวเหน็บพอดูเพราะอยู่ท่ามกลางหุบเขาสูง และในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะมีการเปิดไฟตอนเย็นช่วงสุดสัปดาห์ๆ ละ 1 วัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ถ่ายภาพได้สวยงามช่วงโพล้เพล้อีกด้วย ราวกับภาพหมู่บ้านในนิทาน

เห็นป้ายบอกทางมายัง Shirakawago แล้ว ทำให้ตื่่นเต้นอยากถึงจุดหมายไวๆ

เพราะขนาดอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ยังมองเห็นหิมะอยู่บริเวณยอดเขา และเมื่อสัปดาห์ก่อนที่จะเดินทางมาเที่ยว หิมะก็ยังโปรยปรายที่หมู่บ้านแห่งนี้

หากเป็นทุ่งนาหรือกระท่อมบ้านเรือนแบบธรรมดา ก็คงไม่มีใครอยากมาเที่ยวชม หรือคงจะไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2538

ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นในทันที เมื่อพวกเรามาถึงเมืองนี้ คุณลุงขับรถใจดีของพวกเราก็วกกลับรถขึ้นตามทางเล็กๆ เพื่อขึ้นมาบนเชิงเขา ทำให้พวกเราได้ชมภาพทั้งหมู่บ้านจากมุมสูงแบบนี้

ซึ่งปกติแล้วรถบัสขนาดใหญ่มักจะไม่พานักท่องเที่ยวขึ้นมาชม แต่ต้องลงเพื่อต่อรถขนาดเล็ก พวกเราจึงขอปรบมือขอบคุณคนขับรถของพวกเรา

ขอกดไลค์ ที่มาถึงแล้วดังตั้งใจ

แต่สำหรับช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งทำให้อาจไม่สวยงามนัก เพราะไม่เห็นทั้งหิมะปกคลุม และยังไม่เห็นต้นข้าวสีเขียวเต็มท้องนา

แต่ก็ได้เห็นความงามจากธรรมชาติ

ได้มองเห็นบ้านเรือนได้ชัดเจน เนื่องจากมีแสงแดดแรงจัดส่องสว่าง อากาศกำลังดี

หมู่บ้านชิราคาวาโกะ Shirakawa-go(白川郷;しらかわごう)ตั้งอยู่บนภูเขาในเขตจังหวัดกิฟูและโทยามา (Gifu and Toyama Prefectures) ทางตอนกลางของเกาะฮอนชู   ประกอบไปด้วยบ้านเรือนรูปร่างแปลกตาที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200-300 ปี กระจายไปในแนวเหนือ-ใต้ ตามที่ราบแคบๆ ที่ขนานไปกับแม่น้ำโชกาวะ (Shokawa River)

เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีภูเขาสูงล้อมรอบทุกด้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวบ้านแถบนี้จึงพัฒนาสังคมและวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชุมชนอื่นในญี่ปุ่นมาช้านาน

ซึ่งสามารถสัมผัสบรรยากาศของหมู่บ้านที่ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตอยู่ตามปกติ แตกต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มักจะถูกเปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลายไปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า จึงเป็นการทำลายวิถีชีวิตโบราณไปอย่างน่าเสียดาย

แผนภาพแสดงเส้นทางการเดินท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านชิราคาวาโกะ

แต่จุดที่นัดหมายกันหลังจากเดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโชกาวะ

ก็คือ Kanda House หรือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชิวิตของหมู่บ้านนี้

หมู่บ้านแห่งนี้มีสิ่งที่แปลกตา คือ หลังคาทรงสูงที่มีความชันมากถึง 60 องศากับพื้นดิน จนดูเหมือนคนพนมมือ ในภาษาญี่ปุ่นจึงเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่าเป็นรูปแบบกัสโช Gasshō (合掌) ซึ่งแปลว่า สร้างแบบพนมมือ 

ด้านหน้าทำเป็นหน้าจั่วแบบบ้านทรงไทย มีการเจาะช่องหน้าต่างเพื่อรับแสงสว่างจากภายนอก และเป็นการระบายอากาศให้ถ่ายเทจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง เมื่อมองจากภายนอกจึงดูมีสัดส่วนที่สวยงาม หลังคาอาจมีความหนาถึง 1 เมตร  เพื่อรองรับน้ำหนักหิมะและป้องกันไม่ให้น้ำซึมทะลุหลังคาเข้ามาในบ้าน ทำให้หลังคาไม่ต้องเปียกน้ำเป็นเวลานาน ๆ จนทำให้ผุพังเร็ว

ในฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนักมาก ชาวบ้านจึงสร้างหลังคาทรงแหลมสูงลาดลงด้านข้างทั้งสองของบ้าน ช่วยให้หิมะและน้ำฝนไหลลงมาตามหลังคา ไม่เกาะค้างบนหลังคาเป็นเวลานานๆ หิมะจะได้ไม่กองท่วมหลังคา จึงไม่ต้องรับน้ำหนักหิมะปริมาณมากอีกด้วย

ขอเช็คอินซักหน่อย ... แช๊ะ!

หิมะที่ตกหนักจะไหลลงมาจากหลังคาและกองอยู่รอบบ้าน จะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความเย็นและลมหนาวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บ้านส่วนใหญ่ยังหันหน้าไปทางเดียวกันตามทิศทางลม เพื่อช่วยให้บ้านเย็นสบายในฤดูร้อน และสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว

วัสดุที่ใช้มุงหลังคาเป็นวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ไม่ยากในแถบนั้น ประกอบด้วยเศษไม้ ต้นไผ่ ดินเหนียว หญ้าคา เนื่องจากหลังคาพวกนี้ทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่อยู่บ่อย ๆ การมุงหลังคาใหม่จะทำในช่วงฤดูใบไม้ผลิหลังจากหิมะละลายหมดแล้ว ในปัจจุบันบ้านแต่ละหลังต้องมุงหลังคาใหม่ทุก 25-35 ปี การมุงหลังคาต้องอาศัยแรงชาวบ้านประมาณ 100-200 คน เหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าวของไทย และใช้เวลาเพียงวันเดียวสำหรับบ้าน 1 หลัง ทุกปีจะมีบ้าน 2-3 หลังที่ต้องมุงหลังคาใหม่ เป็นการถ่ายทอดวิธีมุงหลังคาจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี และในหน้าร้อนช่วงเช้ายังต้องมีการฉีดน้ำขึ้นไปบนหลังคาเพื่อป้องกันไฟไหม้อีกด้วย

ระหว่างที่เดินเที่ยวอยู่ จะมองเห็นเจ้าของบ้านจูงสุนัขออกมาเดินเล่น อย่างที่บอกแล้วว่า เรายังมองเห็นวิถีชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยเหมือนเราไม่ได้มาท่องเที่ยวยังสถานที่ที่ทำขึ้นใหม่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ แต่เรากำลังอยู่ในหมู่บ้านที่ยังรักษาวิถีชีวิตอยู่คงเดิม

ในร่องน้ำ ก็ยังมีปลาเทร้าว่ายน้ำไปมาอย่างเป็นธรรมชาติ ถือเป็นเสน่ห์ของการอยู่กับธรรมชาติรอบๆ ตัว

มาถึง Kanda House ที่อยู่ตรงหน้า แต่ก็มองเห็นดอกแดฟโฟดิว (Daffodil) กำลังชูช่ออวดโฉมงาม

นอกจากนี้ ยังมีดอกชิบะซากุระ (Pink Moss) มีชมพูในมุมล่างขวาอีกด้วย ซึ่งในช่วงประมาณ พฤษภาคม มักจะมีโปรแกรมชมดอก Pink Moss นี้ ที่บานเป็นทุ่งโดยมีฉากหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ อย่างนี้นี่เอง

เตาไฟเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในบ้าน

ภายใต้หลังคาทรงสูง จะแบ่งเป็นชั้น ๆ โดยมีตั้งแต่ 2-4 ชั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ชั้นล่างเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีพื้นที่มากพอในบ้าน ทำให้ชาวบ้านอยู่กันแบบครอบครัวขยาย ทุกคนในครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันหมดในหลังเดียว 

ส่วนชั้นบนใช้เป็นที่เก็บของและเลี้ยงไหม ซึ่งชุมชนแห่งนี้ในอดีต (และปัจจุบันสำหรับบางบ้าน) ยังชีพด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ก่อนหน้านี้ หมู่บ้านชิราคาวาโกะ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของโลกภายนอกแม้แต่คนญี่ปุ่นเอง ชาวบ้านอยู่กันอย่างสงบ ในปี พ.ศ. 2467 มีบ้านเรือนแบบกัสโชนี้ถึง 300 หลังคาเรือน 

ต่อมามีการสร้างเขื่อนและตามมาด้วยผลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ในปี พ.ศ. 2504 บ้านเรือนทรงดังกล่าวลดเหลือ 191 หลัง  และปัจจุบันเหลือเพียง 114 หลังเท่านั้น

แต่ก็มีความพยายามในการอนุรักษ์จากคนรุ่นใหม่ โดยมีคำขวัญว่า “ไม่รื้อ ไม่ขาย ไม่เช่า” และชี้ให้เห็นความสำคัญถึงการอนุรักษ์บ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์แบบนี้

ได้เวลากลับไปยังรถบัสกันแล้ว

ได้เก็บเกี่ยวบรรยากาศไว้ในรูปถ่ายไว้อย่างเต็มที่

แม้บรรยากาศจะต่างจากภาพหิมะขาวโพลนที่เคยเห็นในภาพ แต่ก็สัมผัสกับอากาศที่เย็นสบายยามแดดร่มลมตก

แต่ก็ได้สัมผัสสีสันฤดูใบไม้ผลิในอีกบรรยากาศ

สีฟ้าของแม่น้ำโชกาวะ (Shokawa River) ไหลผ่านโขดหินเกิดฟองน้ำสีขาว สร้างสรรโดยธรรมชาติ

เก็บความประทับใจไว้เต็มที่ทั้งจากกล้องถ่ายภาพ และโทรศัพท์มือถือ

แต่ก็ยังอยากหาโอกาสกลับมาท่องเที่ยวอีกในช่วงฤดูหนาวอีกให้ได้

แต่อาจเลือกวิธีการเดินทางมาเที่ยวเอง สามารถนั่งรถไฟจากโอซากา (Osaka) หรือ นาโงยา (Nagoya) ไปลงที่เมืองคานาซาวา (Kanazawa) แล้วต่อรถบัสประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาทีถึงหมู่บ้าน

หรือจากนาโงยานั่งรถไฟเข้าเมืองทาคายามา (Takayama) แล้วต่อรถบัสอีกประมาณ 50 นาที

โดยส่วนตัวอยากบอกว่า ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่จะมากี่ครั้งก็ไม่มีวันเบื่อ แม้จะท่องเที่ยวสถานที่ซ้ำ แต่ฤดูกาลเปลี่ยน บรรยากาศก็เปลี่ยน และได้สัมผัสวิถีชีวิตที่เราจะนำติดตัวกลับมาปฏิบัติตามได้

แม้จะไปท่องเที่ยวแค่ 1 สัปดาห์ แต่เหมือนว่าเราจะได้รับความมีระเบียบวินัยติดตัวกลับมาด้วยในบางอย่าง

อยากกลับไปเช็คอินที่ประเทศญี่ปุ่นอีกบ่อยๆ นะ แล้วพบกันอีก .. รักมากนะ