Disable Preloader




พาไปชม พูนาคา ซอง ป้อมปราการที่สวยที่สุดแห่งภูฏาน

จำได้ว่า เมื่อครั้งที่ เจ้าชายจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก ทรงร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 11-20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ทำให้เราคนไทย ได้รู้จักกับประเทศภูฏาน

อีกทั้งได้เห็นถึงพระจริยวัตรที่งดงาม อ่อนน้อม ถ่อมตน ทำให้ยิ่งได้รับการต้อนรับและการแสดงความชื่นชมจากคนไทย อย่างที่ไม่เคยมีเจ้าชายต่างแดนองค์ใดได้เคยได้รับมาก่อน

และเมื่อได้เห็นสารคดีท่องเที่ยว หรือจากนิตยสารต่างๆ ยิ่งทำให้จำภาพป้อมปราการแห่งนี้ติดตา จนทำให้เป็นความตั้งใจ อยากมาเที่ยวชม และสัมผัสยังสถานที่จริงในทริปนี้

ซึ่งการเดินทางมายังเมืองพูนาคาแห่งนี้ ถือว่าไม่ยุ่งยากนัก แต่หนทางที่ไกลมาก เพราะต้องเดินทางจากเมืองพาโร ไปค้างยังเมืองทิมพู กว่าจะเดินทางมายังเมืองนี้อีกวัน แต่ได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติตลอดเส้นทางที่สุดประทับใจ ไว้จะมานำเสนอในโอกาสต่อไป ... จากภาพนี้จะมองเห็นแม่น้ำ Pho Chu (บิดา) และ แม่น้ำ Mo Chu (มารดา) ที่มาบรรจบกันพอดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของป้อมปราการ Punakha Dzong แห่งนี้

เมื่อเดินทางมาถึง พวกเราก็แวะกันเพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกัน ไม่เว้นแม้แต่ถ่ายภาพเด็กนักเรียนชาวภูฏานใบหน้าจิ้มลิ้มเหล่านี้

มาถึงสะพานเพื่อเข้าไปยังป้อมปราการ พวกเราก็ไม่รีรอ ขอเข้าไปชื่นชมภายใน สมกับการรอคอย และต้องถือว่าเป็นไฮไลท์ของทริปนี้อีกด้วย

ซึ่งการเดินทางมาถึงสถานที่อันยิ่งใหญ่และเงียบสงบ รายรอบไปด้วยธรรมชาติที่บริสุทธิ์

ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์อย่างยิ่ง อากาศที่เย็นสบาย เพราะเราเดินทางมาในช่วงฤดูฝน

และสังเกตได้ว่า จะมีเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวของพวกเราเท่านั้น

พวกเราไม่รีรอ พร้อมใจกันจูงกันขึ้นบันไดที่สูงมาก เพราะสมัยก่อนเวลามีการสู้รบ ก็จะยกบันไดไม้ที่เห็นอยู่ข้างหน้าขึ้น ก็เหมือนกับกำแพงสูงนั่นเอง ยากที่ข้าศึกจะปีนเข้ามาภายใน

และที่สำคัญคือ ป้อมปราการแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กับ นางสาวเจตซุน เปมา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีองค์ใหม่ แห่งราชอาณาจักรภูฏาน นำความปลาบปลื้มมาสู่ชาวภูฏาน และชาวโลก

ในเมืองพูนาคา เมืองหลวงเก่าของประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยจิตวิญญาณทางศาสนาและร่องรอยทางวัฒนธรรม

เดินชมรายละเอียดของสถาปัตยกรรมและศิลปะ

ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ และมีหลายชั้น

ประกอบไปด้วยอาคารต่างๆ

แต่เงียบสงบมากๆ

จนรู้สึกไปว่า เรากำลังอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลจากความวุ่นวายต่างๆ ของโลกใบนี้

ที่ซึ่งคนเรา มีความสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ทำให้ลืมวิถีชีวิตประจำวันไปได้พักนึง

สำหรับการมาท่องเที่ยวภูฏานนั้น พวกเราได้ไปเที่ยวป้อมปราการหลายๆ แห่ง ทั้งในเมืองพาโร และเมืองทิมพู ซึ่งจะมีบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายใน ขอบอกว่า งดงามมากๆ แต่ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพได้

องค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งขนาดใหญ่ และงดงามในรายละเอียด จนอยากให้มาชื่นชมด้วยตัวเอง ไม่ทราบจะบรรยายอย่างไรให้เห็นภาพ

ด้วยศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ และความศรัทธาทางศาสนาอย่างดีเยี่ยม

พวกเราก็ถ่ายภาพกันไว้เป็นที่ระลึก เป็นทริปที่ประทับใจ ไม่มีวันลืม

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุ้มค่ากับการเดินทาง

แม้จะไกลซักหน่อย แต่ก็ได้สัมผัสกับความประทับใจ เกินกว่าที่เคยจินตนาการไว้

ด้วยเพราะอาจได้รับข้อมูลการท่องเที่ยวไม่มากนัก

ทำให้มาพบกับของจริง ทำให้ตื่นตาตื่นใจ

"พูนาคา ซอง" แห่งนี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชวัง เป็นที่ทำงานส่วนราชการในฤดูหนาว ซึ่งในช่วงหน้าหนาว เมืองทิมพูจะหนาวมากเพราะอยู่บนที่สูงกว่า ดังนั้นพอย่างเข้าสู่ฤดูหนาว หน่วยงานราชการและสำนักพระราชวังก็ย้ายมาอยู่ภายในป้อมแห่งนี้

แม้ว่าป้อมปราการแห่งนี้ เคยถูกไฟไหม้มาหลายครั้ง ถูกน้ำท่วมใหญ่ และถูกแผ่นดินไหว แต่ตัวป้อมก็ได้รับการบูรณะโดยไม่ได้โยกย้ายแต่ประการใด

สำหรับการมาท่องเที่ยวป้อมปราการต่างๆ มีข้อกำหนดเล็กน้อย คือ การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย เพื่อเป็นการเคารพต่อสถานที่ และภายในป้อมสามารถถ่ายภาพได้ ยกเว้น พระพุทธรูป

และเมื่อเดินออกมาภายนอก ก็จะพบกับอาคารหลังอื่นๆ

ก็ต้องขอแวะเดินไปเที่ยวชม

ไปแวะทักทายกับ แมวเจ้าถิ่น

จากมุมนี้ ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของป้อมปราการ ท่ามกลางขุนเขา

เมื่อเทียบความสูงกับพระสงฆ์ทั้ง 2 รูป ตรงนั้น

ได้เวลาเดินผ่านสะพาน ย้อนกลับทางเดิม กับภาพความประทับใจ

ภาพความยิ่งใหญ่ของป้อมปราการ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1637 หรือมีอายุกว่า 375 ปี

ป้อมที่มีความสวยงามที่สุด และไว้เอนทรีต่อๆ ไป จะนำภาพป้อมปราการอื่นๆ มาฝาก ซึ่งก็สวยงามไม่แพ้กัน