Disable Preloader




ร้อนนัก ไปพักร้อน 2011 ตอนที่ 19 : ชมพระราชวังแวร์ซาย ย่างกรายห้องโน้นห้องนี้

ยังคงเดินซอกแซกจากห้องโน้นมาห้องนี้ มองด้วยตายังไม่พอ ขอถ่ายภาพเก็บไว้มาบันทึกการเดินทาง อีกทั้งเป็นข้อมูลภาพ เพื่อมาหาข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมในภายหลัง เพราะโดยนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบศึกษาอะไรไปก่อนนัก อยากไปลุ้นว่าจะพบเห็นอะไรในทริป แต่มาภายหลังรู้ว่า ไม่ถูกต้องนักเพราะบางครั้งทำให้เราพลาดชมสิ่งสำคัญไปได้เหมือนกัน

ภาพวาดเหล่านี้น่าจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ที่สำคัญในอดีต

ซึ่งหากเป็นเพียงบันทึกเรื่องราวตัวอักษร เราคงไม่สามารถจินตนาการอะไรได้ชัดเจน

มองบุคคลในภาพแล้วบางทีก็ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร ภายหลังมาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพอจะเดาได้บ้าง

แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ชุดฉลองพระองค์ที่ดูแปลก ฉลองพระบาท และผ้าคลุมพริ้ว

แต่สิ่งทีเป็นรายละเอียดศิลปะที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดจึงใช้เวลาถึง 30 ปี จึงแล้วเสร็จ และเหตุใดที่พระราชวังแวร์ซายได้รับจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 3 เมื่อปี ค.ศ. 1979

โดยมี 3 เหตุผลหลัก ได้แก่

1) เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด

2) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม

3) มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุผลข้อที่ 3 ที่จะมองเห็นผลงานภาพวาดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้แทบจะทุกมุมของพระราชวังแห่งนี้

ภาพวาด ภาพแกะสลัก ซึ่งแสดงให้เห็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสหลายสมัยสถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นที่เซ็นสัญญาสงบศึกกับอเมริกาในปี ค.ศ 1783 แวร์ซายส์ นับเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1789 ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ ได้เปลี่ยนสภาพพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และใช้เป็นสถานที่ลงนามในสัญญาสงบศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมัน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ 1919

ยังมีพระราชอาสน์ต่างๆ วางไว้ในห้อง เพื่อให้ศึกษารายละเอียด โดยมีป้ายบอกรายละเอียดหรือกดหมายเลข เพื่อฟังจากเครื่องบรรยายมือถือ

แล้วไม่แน่ใจว่าด้วยความบังเอิญหรือไม่ ที่มีการแสดงพระราชอาสน์จากเมืองไทยถึง 2 ชุด

แสดงรายละเอียดบรรยายไว้ด้วย

ซึ่งวางโดดเด่นในห้องกระจก (Galerie des Glaces หรือ The Hall of Mirrors)

ทำเอาคนไทยอย่างเราปลาบปลื้มไปด้วยที่ผลงานไปจัดแสดงภายในพระราชวังแวร์ซายแห่งนี้

เมื่อกล่าวถึง ห้องกระจก (Galerie des Glaces หรือ The Hall of Mirrors) ซึ่งถือเป็นห้องที่มีความสำคัญ เป็นห้องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดซึ่งเคยใช้เป็น ห้องลงนามในสัญญาสงบศึกระหว่างสัมพันธมิตรกับจักรวรรดิเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และใช้เป็นที่ลงนาม ในเมื่อเยอรมนีบุกตีชนะฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

ห้องนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทำการก่อสร้างเอง ภายในห้องประกอบด้วยกระจกยักษ์ 17 บาน เปิดออกแล้วจะเห็นสวนแวร์ซายอันสวยงาม

มีโคมระย้าห้อยอยู่เต็มไปหมด

รวมไปถึงวัตถุโบราณล้ำค่าอยู่เต็มไปหมด อดใจไม่บันทึกไว้ ไม่ได้แล้ว

อย่างที่ทราบว่าภายในแบ่งออกเป็นห้องๆ เช่น ห้องบรรทม ห้องเสวย ห้องสำราญ ฯลฯ

ทุกห้องล้วนมีเครื่องประดับงดงามตระการตาและภาพเขียนที่มีชื่อเสียง

รวมทั้งห้องบรรทมของพระราชินี ลวดลายละเอียดอ่อนช้อยมาก

ห้องเสวย ซึ่งมีการจัดตกแต่งไว้อย่างสวยงาม

เครื่องใช้ต่างๆ มีรายละเอียดในทุกส่วนประกอบ

เรียกได้ว่ามองไปบนเพดานก็ยังพบกับความงามของโคมระย้าในทุกห้อง

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ภายในพระราชวังแวร์ซายจะไม่มี "ห้องสรง" หรือ "ห้องน้ำ" นั่นเอง หากไปลองศึกษาดูจากแหล่งข้อมูล พบว่ามีเอกสารระบุว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 กษัตริย์ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1601-1643) เมื่อทรงประสูติและทรงรับการล้างบาปและรับศีลจุ่มแล้ว ไม่เคยลงสรงน้ำอีกเลย จนเมื่อพระองค์มีพระชนม์ได้ 7 พรรษา และมีผู้เริ่มล้างพระบาทให้พระองค์ก็เมื่อพระชนม์ได้ 6 พรรษาแล้ว ความกลัวการลงแช่ในน้ำก็ยังคงมีต่อไปในจิตสำนึกของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 17

ครั้งเดียวที่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ. 1643-1715) ทรงสรงน้ำในห้องประทับในพระราชวังแวร์ซายส์ คือ เมื่อปี 1655 กลิ่นตัวของพระองค์รุนแรงขนาดผู้จงรักภักดีที่สุดของพระองค์พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเฝ้า และแม้ว่าแพทย์หลวงจะทูลแนะนำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ตลอดชีวิตของพระองค์ทรงพอพระทัยกับการให้เช็ดพระพักตร์ และโกนหนวดเคราสองวันครั้งด้วยการใช้สำลีจุ่มลงในแอลกอฮอล์เช็ดเท่านั้น

ภายในตัวพระราชวังมีการจัดห้องเพื่อวางอ่างอาบน้ำทั้งของพระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระสนมต่างๆ ส่วนใหญ่เพื่อการตั้งโชว์เป็นสำคัญการลงอาบจริงๆ ยังน้อยครั้ง

ยังพบเข้ากับศิลปะมาทางแถบเอเชียจัดแสดงอยู่ด้วย

ซึ่งเป็นผลงานที่แสดงออกถึงความเชื่อและศรัทธา

การเดินชมผลงานศิลปะภายในพระราชวังแวร์ซายมุมนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

แต่ละภาพใหญ่โตขนาดไหน ลองเทียบกันเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ดูแล้วกัน

ทำให้ยิ่งเห็นรายละเอียด อารมณ์ของบุคคลในภาพได้อย่างชัดเจน

ราวกับเราหลุดเข้ายืนอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น โดยมองข้ามเรื่องรายละเอียดแสงเงาไปได้เลยเพราะครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ได้ความรู้สึกอย่างครบถ้วน แม้จะใช้กล้องถ่ายภาพ แต่ก็ไม่ได้อารมณ์รายละเอียดของภาพได้ดีเช่นนี้

ยังมีจุดเดินชมอีกมากในเช้านี้ แต่คงต้องหามองหาคาเฟ่ เพื่อเติมพลังกันซักหน่อย

ไว้มาเดินเที่ยวกันต่อไปเร็วๆ นี้นะ