Disable Preloader




หยุดยาวสี่วัน ... หันไปเที่ยว ลาว - ตอนที่ 8 : จาก วัดวิชุนราช มาถึง วัดเชียงทอง

มาถึงตอนใกล้จะปิดทริปท่องเที่ยว "ลาวเหนือ" ซึ่งในตอนนี้ ยังมีสถานที่น่าสนใจในหลวงพระบางอีกหลายๆ แห่ง อย่างเช่น "พระธาตุหมากโม" เป็นพระธาตุอีกองค์หนึ่งซึ่งมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม เป็นพระธาตุซึ่งมีเอกลักษณ์ที่แปลกกว่าพระธาตุองค์อื่น คือจะมีลักษณะเป็นทรง โอคว่ำ หรือคล้ายผลแตงโมผ่าครึ่งลูก

มีตำนานว่ากันว่า ใต้พระธาตุสมัยก่อนเป็นบ่อน้ำต้องคำสาป ไม่ว่าคนผู้ใด หรือสัตว์ตัวใดที่มองลงไปในน้ำต้องมีอันเป็นไปหมด พระนางจึงได้สั่งให้ทหารและช่างช่วยกันสร้างพระธาตุครอบบ่อน้ำไว้ เพื่อที่จะไม่ให้มีผู้ใดต้องล้มตายเพราะบ่อน้ำแห่งนี้อีก และในสมัยซึ่งหลังจากที่ถูกโจรฮ่อปล้นเมือง ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ และได้มีการขุดค้นพบ สิ่งของล้ำค่ามากมาย เช่น ทองคำ พระพุทธรูปหล่อสำริด พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่แกะสลักจากแก้วซึ่งคล้ายกับพระแก้วมรกต โบราณวัตถุเหล่านี้ได้นำถวาย "เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์" และเก็บรักษาไว้ใน "พิพิธภัณฑ์พระราชวังเจ้ามหาชีวิต" ซึ่งเดี๋ยวจะพาไปชม

ซึ่งพระธาตุนี้ตั้งอยู่ในบริเวณ "วัดวิชุนราช" สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2046 ในสมัยพระเจ้าวิชุนราช

"พระอุโบสถ" หรือที่ชาวลาวเรียกว่า "สิม" เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง ตัวอุโบสถมีรูปทรงอาคารไทลื้อสิบสองปันนา ซึ่งมีจุดเด่นคือ ส่วนคอชั้นสองจะยกระดับสูงขึ้นไป ส่วนบนหลังคาประดับด้วยโหง่ (หรือช่อฟ้าแบบไทย) ตรงกลางหลังคามีช่อฟ้า เป็นรูปปราสาทยอดฉัตรเล็กๆ ลดหลั่นหลายชั้น หน้าต่างพระอุโบสถประดับด้วยลูกมะหวด บานประตูด้านหน้าทั้งสามช่องแกะสลักลงรักปิดทอง มีรูปพระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม และพระอินทร์ ศิลปะแบบเชียงขวาง 

"พระประธาน" หรือพระองค์หลวงในพระอุโบสถมีขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง ด้านหลังพระประธานมีโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมมาจากวัดร้างต่างๆ ในหลวงพระบาง เช่น พระพุทธรูปสำริด พวกไม้จำหลักลวดลายต่างๆ พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทองสูงเท่าคนจริงจำนวนมาก

มาเที่ยวต่อที่ "วัดเชียงทอง ราชวรวิหาร" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับเป็นตัวแทนของศิลปะสกุลช่างล้านช้างที่งดงามและสมบูรณ์ และนับเป็นวัดสำคัญวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428 ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของวัดเชียงทองเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้น ปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้ชมความงดงามของวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างก็เป็นได้

ภายในวัดเชียงทอง ยังมีจุดที่ต้องไปชม คือ "โรงราชรถหรือโรงเมี้ยนโกศ" ที่เป็นโรงเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504

โรงเมี้ยนโกศหลังนี้ มีสิ่งที่ชวนชมทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกจะงดงามวิจิตรไปด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีเหลืองอร่ามเรืองรองฝีมือของ “เพียตัน” (พระยาตัน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว และหากใครไปยืนเพ่งพินิจชมรายละเอียดก็จะเห็นว่าเพียตันนั้นแกะสลักไม้ได้งดงามนัก ไม่ว่าจะเป็นรูปสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตู รูปทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก (ด้านซ้าย) และรูปสลักที่งดงามอีกมากมาย ซึ่งหลายๆ คนที่ได้ยลต่างก็บอกว่า นอกจากเพียตันจะแกะสลักแล้วยังใช้การ “ควัก” ไม้ออกมาเป็นลวดลายอันวิจิตรดังที่เห็น

จากภายนอกเมื่อเข้าสู่ภายในโรงเมี้ยนโกศก็จะเห็นราชรถแกะสลักไม้สีทองเหลืองอร่ามทั้งคัน มีเศียรของพญานาค 5 เศียร ยื่นออกมาจากด้านหน้าราชรถอย่างอ่อนช้อยสวยงามแต่ว่าก็แฝงความขรึมขลังอยู่ในที่แห่งนั้น

นอกจากรูปทรงอันอ่อนช้อยแล้ว "สิมวัดเชียงทอง" ยังดูงดงามด้วยลวดลายลงรักปิดทอง หรือที่ชาวลาวเรียกว่า “พอกคำ” ที่มีให้ดูกันทั่วไปตั้งแต่หน้าบัน ด้านหน้า ด้านใน ด้านข้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพุทธและนิทานพื้นบ้าน ส่วนด้านในสิมนั้นก็ดูขรึมขลังไปด้วยพระประธานองค์โตที่ประดิษฐานอยู่ หากใครไปเยือนวัดเชียงทอง ควรเข้าไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับเสน่ห์ภาพชวนมองอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลายประดับ “ดอกดวง” หรือกระจกสีรูป “ต้นทอง”ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งหลวงพระบางในอดีตคือเมืองเชียงทองที่เต็มไปด้วยต้นทองอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบริเวณวัดเชียงทองมีต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อ "เจ้าศรีสว่างวัฒนา" ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทอง จึงได้ให้ช่างทำลวดลายประดับดอกดวงเป็นรูปต้นทองไว้ที่ด้านหลังสิมเพื่อระลึกต้นทองยักษ์ในอดีต

พูดถึงลายดอกดวงนี่ไม่ใช่มีให้ชมแค่ที่หลังสิมเท่านั้น แต่ว่าที่ "หอพระม่านและหอพระไสยาสน์" ข้างหลังสิมก็มีลวดลายดอกดวงอันสวยงามบนผนังสีชมพู โดยลวดลายดวงดอกที่หอพระทั้งสองเป็นภาพคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้านชื่อดังของลาวเรื่อง “สีเสลียว เสียวสวาด” และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบาง

อนึ่งภายในหอพระม่านจะมี “พระม่าน” หนึ่งในพระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางประดิษฐานอยู่ ในวันปกติหอพระม่านจะปิดใส่กุญแจไว้ตลอด ครั้นพอถึงช่วงสงกรานต์ก็จะมีการอัญเชิญพระม่านลงมาให้คนทั่วไปได้กราบไหว้และสรงน้ำพระกัน ต่างจากหอพระไสยาสน์ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมภายในได้

สำหรับในตอนต่อไปจะเป็นตอน ปิดทริปประทับใจใน "หลวงพระบาง" มาติดตามตอนต่อไปเร็วๆ นี้

แหล่งข้อมูล : อินเตอร์เน็ต