ผมนั้นเป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิดแต่เพิ่งจะได้รู้จักและพบเห็นสถานที่แห่งนี้ โดยที่ไปเปิดเจอในหนังสือสมุดภาพ จากฝีมือการถ่ายของตากล้องชาวต่างประเทศ นึกไปแล้วรู้สึกอายจริงๆ ทั้งที่ไม่ไกลจากบ้าน อีกทั้งยังเคยปั่นจักรยานมาถึงทางเข้าแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้เลี้ยวเข้ามาถึงบริเวณนี้
ในระหว่างการเดินถ่ายภาพไป ผมยังไม่ทราบเลยว่า คือสถานที่ใดมาก่อน ทราบแต่เพียงว่าปัจจุบันคือ "สถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก" แต่เมื่อย้อนออกมาทางเข้าจึงสังเกตเห็นป้ายแสดงประวัติของสถานที่แห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า "ศุลกสถาน" (Customs House)
มองขึ้นไปบนยอด ยังหลงเหลือสภาพโครงสร้างที่ผ่านแดดฝนมาถึง 118 ปี ... มาทราบถึงประวัติกันสักหน่อย "ศุลกสถาน" หรือ กรมศุลกากรในปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เพื่อเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า "ภาษีร้อยชักสาม" ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โรงภาษีร้อยชักสาม" เป็นด่านศุลกากรซึ่งพ่อค้าวาณิชชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อ บริเวณนี้ในอดีตถือเป็นปากประตูสุดแดนพระนครใต้ เมื่อเรือสินค้าเข้ามาจากปากแม่น้ำก็ต้องผ่านจุดตั้งด่านเก็บภาษีที่ตั้งอยู่ทั้งฝั่งบางรักและคลองสาน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ
อาคาร "ศุลกสถาน" นี้ มิสเตอร์กราสสี นายช่างชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง ตัวอาคารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะเป็นอาคาร ๓ ชั้น ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น ต่อมาแม้ว่า เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรก จะได้บัญญัติคำว่า "ศุลกากร" ขึ้นใช้ และจารึกชื่ออาคารนี้ว่า "ศุลกสถาน" แต่คนทั่วไปนิยมเรียก โรงภาษีอยู่เช่นเดิม
ภาพที่เห็นจะเป็นประตูทางเข้า ยังมองเห็นสภาพที่ยังคงทนอยู่ได้กว่าร้อยปี
คงเป็นเพราะการก่อสร้างที่ใช้หลักการหรือโครงสร้างเดียวกับสถาปัตยกรรมในอิตาลี หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ได้ เย้ายวนใจให้ใครต่อไป ดั้นด้นไปถึงยุโรปเพื่อไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมแบบนี้
น่าเสียดายที่ปล่อยให้เก่าและทรุดโทรม เหลือแต่โครงสร้างและแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในยุคนั้น แต่อาคารที่เห็นเหล่านี้ อาจจะต้องถูกรื้อและสร้างขึ้นใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้
เพราะกำลังจะทำการพัฒนาเป็นโรงแรมประเภทบูติก (Boutique Hotel) ขึ้นแทน
ภาพที่เห็นนี้ จะคงเหลือแต่เพียงภาพความทรงจำในอดีต ทั้งเสียดายและดีใจปะปนกันไป
ในย่านนี้ ยังหลงเหลืออาคารสำนักงานของบริษัทต่างชาติ ที่มาค้าขายในเมืองไทย จำได้ว่าผมเคยมาติดต่องานกับบริษัทฯ นี้เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่เขาจะย้ายที่ทำการไปที่ใหม่
เวลาเดินบนพื้นไปบนพื้นไม้ ต้องค่อยๆ ย่องหรือเดินเบาๆ เพราะเสียงจะดังไปทั่วทั้งชั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นเป้าสายตา
อยากให้มีการบูรณะไว้อย่างดี เวลาชาวต่างชาติล่องเรือผ่านไปมา จะได้อวดสายตาชาวโลกได้อีกด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นเสียงหนึ่งซึ่งสะท้อนในฐานะคนไทย ภูมิใจในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อยากให้เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้นานต่อไป แทนการสร้างตึกใหม่ๆ ซึ่งดูสวย แต่ไม่สวยแบบคลาสสิค แบบนี้ซิถึงจะเรียกว่า "สวยแบบดูไม่เบื่อเลย"