Disable Preloader




พาเที่ยวตลาดน้ำวิถีไทย ประทับใจคลองผดุงกรุงเกษม

บ่ายๆ วันอาทิตย์อย่างนี้ มองหามุมถ่ายภาพและอยากมาทดสอบกล้องภายหลังที่ไปเปลี่ยนปุ่มชัตเตอร์มาใหม่ จึงเลือกมาเก็บภาพบรรยากาศตลาดน้ำวิถีไทยในคลองผดุงกรุงเกษม

คลองที่มีโอกาสเดินผ่านบ่อยๆ เนื่องจากต้องมาทำธุระแถวนี้เป็นประจำ และดีใจที่กลับมาใสสะอาดอีกครั้ง จำได้ว่ามีช่วงที่ใสสะอาดที่สุดนั้น เมื่อครั้งการจัดประชุม APEC เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งกรุงเทพฯ นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว

และวันนี้บรรยากาศบางส่วนได้กลับมา สร้างความสุขสดชื่นให้คนกรุงเทพฯ อีกครั้ง

ด้วยการจัดงาน "ตลาดน้ำวิถีไทยคลองผดุงกรุงเกษม" ที่ทอดยาวตั้งแต่สะพานอรทัย ถนนลูกหลวง ถึงบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. - 1 มี.ค. 2558 รวมทั้งหมด 18 วัน ไม่มีวันหยุด เพื่อส่งเสริมวาระแห่งการท่องเที่ยววิถีไทยในปี พ.ศ. 2558

นอกจากการได้เที่ยวชมตลาดน้ำและตลาดบกกันแล้ว ยังทำให้เราได้ระลึกถึง "คลองผดุงกรุงเกษม" กลับมาสดใสอีกครั้ง

คลองผดุงกรุงเกษม (อังกฤษ: Khlong Phadung Krung Kasem) เป็นคลองรอบพระนครชั้นนอก ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดเมื่อ พ.ศ. 2394

พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนก็มากกว่าเมื่อเริ่มสร้างกรุง ควรขยับขยายพระนครออกไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นกงสี จ้างจีนขุดคลองพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร

เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม

ผ่านย่านหัวลำโพง ตัดผ่านคลองมหานาคไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา คลองนี้ขุดเสร็จในปี พ.ศ. 2395 ได้รับพระราชทานชื่อว่า "คลองผดุงกรุงเกษม"  [แหล่งข้อมูล : วิกิพีเดีย]

คลองนี้ตัดผ่านคลองมหานาค บริเวณสี่แยกมหานาค ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ผ่านบริเวณหัวลำโพงในปัจจุบัน ผ่านวัดมหาพฤฒาราม (เดิมเรียกว่า วัดท่าเกวียน) ในสมัยที่ทำการขุดมีขนาดกว้าง 20 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 5.5 กิโลเมตร

งานในครั้งนี้มี "5 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ" จะแบ่งออกเป็นตลาดบกและตลาดน้ำ โดยในส่วนของตลาดบกนั้น เริ่มตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ บริเวณริมถนนกรุงเกษม โดยมีร้านค้าตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน มีของกิน ของใช้ เครื่องประดับ ที่มาจาก 5 ตลาดบกในกรุงเทพมหานคร คือ ตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ตลาดวัดทอง เขตบางกอกน้อย, ตลาดวัดนิมมานนรดี เขตภาษีเจริญ, ตลาดหัวตะเข้ และ ตลาดหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง

ส่วนตลาดน้ำ 6 แห่งชื่อดัง ประกอบด้วย ตลาดน้ำตลิ่งชัน, ตลาดน้ำคลองลัดมะยม, ตลาดน้ำวัดสะพาน, ตลาดน้ำคลองสองวัดตลิ่งชัน, ตลาดน้ำวัดกำแพง คลองบางหลวง และตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ยังมีเวทีจัดการแสดงต่างๆ เพิ่มสีสันและบรรยากาศได้ดี

งานนี้ถูกใจทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ได้มาจับจ่าย ช๊อป ชิม ชิล อย่างเต็มที่

ในฝั่งของคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณถนนลูกหลวง ก็จะจัดเป็น "ตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ" ที่จะจัดแสดงการตกแต่งสวนกล้วยไม้ ได้เปิดร้านค้ากล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ และต้นไม้ต่างๆ ให้เลือกซื้อหากลับไปปลูกอีกด้วย

ถูกใจทุกวัย และเชื่อว่าคนไทยรุ่นคุณปู่คุณย่า ยิ่งน่าจะได้โอกาสในการรำลึกถึงความเจริญของการสัญจรไปมาในครั้งก่อน สร้างความประทับใจ ซึ่งปัจจุบันลำคลองในกรุงเทพฯ ได้ลดความสำคัญลงไปทุกวัน ทั้งที่น่าจะบำรุงและปรับปรุงคุณภาพน้ำและภูมิทัศน์ให้กลับมาใช้สัญจรไปมาได้ดี

ซึ่งเชื่อว่าหากพวกเราทุกคน ร่วมมืออย่างจริงจัง ก็น่าจะปรับปรุงลำคลองให้ใสสะอาดได้

หากจัดระเบียบทางเท้า ก็อาจจัดให้ร้านค้าลงคลอง ล่องไปตามน้ำดูบ้าง น่าจะดี

ท่าจะดี หากพัฒนาปรับปรุง คลองสาทร คลองช่องนนทรี และคลองแสนแสบ ให้เป็นต้นแบบ

อาจได้เห็นตลาดน้ำ เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

มีเรือพาย มาขายของแบบนี้ สร้างบรรยากาศ และใช้ประโยชน์คลองเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะช่วงแดดร่มลมตก บรรยากาศยิ่งคึกคัก ซึ่งเปิดถึง 2 ทุ่ม ทุกวัน

เป็นภาพที่สวยงามจากแสงไฟ สะท้อนน้ำระยิบระยับ

อยากเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวกัน ซึ่งเดินทางได้สะดวกมากด้วยรถไฟใต้ดิน MRT มาลงที่สถานีหัวลำโพง ก็สามารถมาต่อเรือได้จากท่าเรือหัวลำโพง โดยจะมีการจัดเรือบริการรับส่งมาที่บริเวณงานตลอดทั้งวัน

ซึ่งคราวหน้า บล๊อกเกอร์จะขอลงเรือล่องคลองผดุงกรุงเกษมดูบ้าง

เพื่อมาชมบรรยากาศสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเย็นๆ เช่นนี้

นอกจากจะมีของกินของใช้และของฝากแล้ว ในงานนี้ก็ยังมีกิจกรรมสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม มีนิทรรศการประวัติศาสตร์คลองผดุงกรุงเกษม

เรียกว่า ช๊อป ชิม ชิล แช๊ะ! ครบเซ็ต

ได้เวลากลับบ้านแล้ว ไว้จะกลับมาแช๊ะ! ใหม่

รถบัสโบราณซานฟราน จากเจษฎาเทคนิคมิวเซียม มารับแล้ว ซึ่งแล่นในเส้นทางจากสนามม้านางเลิ้ง ผ่านถนนนครสวรรค์ ถนนราชดำเนินกลาง สะพานมัฆวานฯ ถนนกรุงเกษม กลับสู่ถนนนครสวรรค์ เก็บความประทับใจมาแบ่งปันและเชิญชวนกัน