Disable Preloader




ปั่นไปชม มนต์เสน่ห์แห่งคลองสาน กับชมรมจักรยาน TCC

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ก็ไม่พลาดที่จะไปร่วมทริปกับชมรม TCC อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นทริประยะทางสั้นๆ แต่ได้พบกับสถานที่หลากหลายที่อาจเรียกได้ว่า "Unseen in Bangkok" ได้เลย

นัดกันประมาณ 8 โมงเช้าที่ "สวนสราญรมย์" หรือ "พระราชอุทยานสราญรมย์" เป็นสวนสาธารณะ อยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง แต่เดิมสวนสราญรมย์เป็นเขตพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 สวนสราญรมย์ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2417 ตามคำแนะนำของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างสวนพฤกษศาตร์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ เมื่อเสด็จไปที่ใด พบพันธุ์ไม้แปลกๆ ก็ทรงโปรดให้นำมาปลูกเพิ่มเติมที่สวนสราญรมย์อยู่เสมอ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กับรัฐบาล ใช้เป็นที่ทำการของคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบสวนสราญรมย์ ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะแก่ประชาชนทั่วไป พวกเราได้เที่ยวชมและฟังประวัติความเป็นมาข้างต้นนี้ ก็ได้เวลาปั่นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไปตามหา "มนต์เสน่ห์แห่งคลองสาน" ตามที่ตั้งใจ

"สวนสมเด็จย่า" เป็นนามสามัญที่ชาวบ้านเรียกอุทยานและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ได้จัดสร้างขึ้นสนองกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่ออนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสสถานเดิม เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน

ภายในอุทยานจัดแบ่งพื้นที่เป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ เช่น ต้นไทรอายุนับร้อยปี และพื้นที่ตั้งอาคารต่างๆ ได้แก่ อาคารจำลองพระตำหนักที่ สมเด็จย่า ทรงเคยใช้เป็นที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และอาคารโบราณดั้งเดิม 2 หลัง คือ อาคารที่เป็นจวนของ สมเด็จพระยาองค์น้อย (ทัต บุนนาค) และบ้านของ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ลักษณะเป็นอาคารตึกแถวสถาปัตยกรรมแบบจีน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับการบูรณะและจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับแสดงภาพพระราชประวัติ ภาพพระราชจริยวัตรงานฝีพระหัตถ์ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จย่า

"แผ่นหินแกะสลัก" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยงานประติมากรรมแกะสลักแผ่นหินขนาดใหญ่แบบนูนต่ำ ตั้งอยู่กลางอุทยานฯ ใกล้บ้านจำลอง เป็นหินทรายสีเขียวนำมาจากโคราช ยาว 8 เมตร สูง 1 เมตร 80 เซนติเมตร หนา 90 เซนติเมตร หนักประมาณ 32 ตัน

"ศาลเจ้ากวนอู" เป็นศาลเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมากว่า 268 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในชุมชมสมเด็จย่าใกล้กับสวนสมเด็จย่า หลังวัดอนงคารามย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในเก๋งศาลเจ้ากวนอู มีเจ้าพ่อกวนอูอยู่ด้วยกัน 3 องค์ องค์เล็กสุดเป็นองค์แรกที่เข้ามาในประเทศไทยราวปี พ.ศ. 2279 ตรงกับสมัยพระเจ้าเฉินหลงฮ่องเต้ จักรพรรดิราชวงศ์ชิง โดยชาวจีนฮกเกี้ยนได้อัญเชิญมาจากมณฑลฮกเกี้ยนโดยทางเรือ มาประทับอยู่ในเก๋ง ซึ่งแต่เดิมเป็นเก๋งเล็กๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2345 ตรงกับสมัยพระเจ้าเจียชิงฮ่องเต้ จักรพรรดิราชวงศ์ชิง ได้มีผู้อัญเชิญเจ้าพ่อกวนอูองค์กลางมาเพิ่มอีกองค์หนึ่ง พร้อมติดป้ายชื่อเก๋งว่า "กวง ตี่ กู เมียว" และต่อมาในปี พ.ศ. 2365 ตรงกับสมัยพระเจ้าเต๋ากวงฮ่องเต้ จักรพรรดิราชวงศ์ชิง มีเจ้าสัวชื่อ "นายคงเส็ง" ได้บูรณะเก๋งแห่งนี้ให้ใหญ่ขึ้น และได้อัญเชิญเจ้าพ่อกวนอูองค์ที่สามมาประทับร่วมกันในเก๋งรวมเป็นสามองค์ พร้อมสร้างระฆังไว้หนึ่งใบ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 คณะกรรมการและศิษย์ได้ร่วมกันสร้างเก๋งศาลเจ้าหลังใหม่ขึ้น เนื่องจากเก๋งหลังเดิมชำรุด เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งชื่อเก๋งหลังใหม่นี้ว่า "กวงตี่ บู่ เชิ่ง เมียว"

พวกเราปั่นลัดเลาะซอกซอย ผ่านบ้านเรือนบ้างก็ยังคงสภาพโบราณไว้ ยังมีเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สัมผัสชีวิตคนกรุงเทพฯ อีกรูปแบบ และยังได้เห็นมุมที่แปลกแตกต่างจากชีวิตประจำวัน

"บ้านหวั่งหลี" เป็นบ้านประจำตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ลักษณะอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน ประกอบด้วยอาคารสำคัญสามหลัง ตึกตรงกลางเป็นเรือนประธาน หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า "ศาลเจ้าแม่หมาโจ้ว" มีตึกแถวสองชั้น เพดานสูง หลังคาแบบจีน สร้างขนาบสองด้าน ตรงกลางระหว่างอาคารเป็นลานโล่ง ใช้ประกอบพิธีกรรมของตระกูลหวั่งหลี ในวันสำคัญตามประเพณีจีน บ้านหวั่งหลีนี้ เดิมเป็นท่าเรือของ พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ต่อมาขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี ปัจจุบันบ้านหวั่งหลีได้รับการดูแลอย่างดี และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2527

บ้านหวั่งหลีเป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมจีนประยุกต์ ผังเป็นรูปตัวยู มีลานกลางบ้าน หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตกแต่งด้วยไม้ฉลุ กระเบื้องเคลือบ และปูนปั้นเป็นลวดลายแบบจีน อีกทั้งมีอาคารประกอบ เช่นครัวไทย ครัวฝรั่ง เรือนคนใช้ สวนด้านข้างและด้านหลัง นับว่าเป็นบ้านคหบดีแบบจีนสำหรับครอบครัวเดี่ยวที่มีความสง่างามอย่างยิ่งหลังหนึ่ง ในบริเวณบ้านมีอาคารลักษณะครอบครัวรวมแบบจีนเป็นหมู่อาคารรูปตัวยูขนาดใหญ่ ตั้งขนานกับบ้านหวั่งหลี หันหน้าออกแม่น้ำเช่นกัน อาคารนี้เป็นอาคารที่ตระกูลหวั่งหลีเคยเช่าจากคุณหญิงเนื่อง พิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (พิศาลบุตร) และต่อมาได้ซื้อขาดใน พ.ศ. 2462

ตระกูลหวั่งหลีก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวจีนที่มาตั้งหลักแหล่งประกอบกิจการค้าในย่านฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบรรพบุรุษที่เข้ามาบุกเบิกคือ นายตันฉื่อฮ้วง เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แซ่ตัน มาถึงประเทศไทยด้วยเรือสำเภาเมื่อ พ.ศ. 2406 ได้ประกอบกิจการเดินเรือค้าข้าวระหว่างประเทศไทยและจีนจนกระทั่งปี พ.ศ. 2414 จึงเริ่มเปิดร้านค้าในประเทศไทย แรกเริ่มสร้างเป็นแพอยู่ที่บริเวณหน้าบ้านหวั่งหลีในปัจจุบัน และเช่าอาคารรูปตัวยูของคุณหญิงเนื่องที่อยู่ใกล้ๆกับแพเพื่อใช้เป็นที่ตั้งร้านค้า ต่อมากิจการก็เจริญก้าวหน้า และได้ขยายธุรกิจไปในด้านต่างๆ อาทิ โรงสี โกดังสินค้าให้เช่า ธนาคาร และบริษัทประกันภัย ชื่อของร้านค้าที่ประกอบกิจการค้าข้าวของนายตันฉื่อฮ้วงนั้นคือ “หวั่งหลี” ซึ่งทายาทได้ใช้เป็นนามสกุลสืบมา

นายตันฉื่อฮ้วงสมรสกับกุลสตรีในตระกูลโปษยานนท์ชื่อหนู หลังจากสมรสแล้วจึงได้ซื้อที่ปลูกบ้านในปี พ.ศ. 2424 โดยสร้างเลียนแบบบ้านตระกูลโปษยานนท์ เรียกว่า “บ้านหวั่งหลี” ซึ่งได้ตกทอดมาเป็นของทายาทในตระกูล และได้รับการอนุรักษ์และบำรุงรักษามาเป็นอย่างดีโดยตลอด

"วัดทองธรรมชาติวรวิหาร" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อว่า "วัดทองบน" สันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 1 กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในรัชกาลที่ 1 ร่วมกับ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัสดา ทรงมีพระศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดทองบน ขึ้นใหม่

ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ มีการบูรณะและขยายวัดใหม่ขึ้นทั้งวัด และทรงรับ วัดทองบน เป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า "วัดทองธรรมชาติราชปฏิสังขรณ์" เฉพาะพระอุโบสถใหม่ทั้งหลัง แต่รูปทรงคงเดิม พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามว่า "พระพุทธชินชาติ มาศธรรมคุณ"

พวกเราขอพักยก ไปหาอะไรหม่ำกันแถวตลาดท่าดินแดง จนเติมพละกำลังเต็มที่ เพื่อเที่ยวกันต่อในช่วงบ่าย

"วัดทองนพคุณ" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร วัดแห่งนี้ยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เดิมชื่อ "วัดทองล่าง" ไม่ทราบชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่คาดว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ได้เป็นผู้บูรณะซ่อมแซม และถวายให้เป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 และบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4

ในส่วนของสถาปัตยกรรม อุโบสถเป็นหลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันสลักลวดลาย ด้านหน้ามีรูปเทพอุ้มผ้าไตร ด้านหลังมีพานรองบาตร หน้าต่างเป็นช่องกลม หน้านางด้านข้าง ข้างละ 4 ช่อง ลวดลายปิดทองประดับกระจก ส่วนพระวิหารหลังคาลด 2 ชั้น ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ถือปูนเกลี้ยง หน้าบันประดับกระเบื้องสีและถ้วย จาน ชาม อาคารก่ออิฐทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในประดิษฐานของพระพุทธรูปหลายร้อยองค์ มณฑป เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างในรัชกาลที่ 4 พระเจดีย์องค์ใหญ่ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง

มาชมศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปั้น ปางมารวิชัย จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ เป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก เขียนโดยพระครูกสินสังวร ด้านหลังพระประธานมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปพระวิสูตร หรือผ้าม่าน และมีเหล่าทวยเทพคลี่พระวิสูตรออกมาทั้งด้านซ้ายและขวา

"ป้อมป้องปัจจามิตร" สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2375 หลังจากที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคูพระนครชั้นนอกเสร็จแล้ว พระองค์ได้โปรดให้สร้างป้อมจำนวน 8 ป้อมเรียงรายตามริมคลอง และให้สร้าง "ป้อมป้องปัจจามิตร" ขึ้นเพื่อป้องกันผู้รุกรานทางด้านลำน้ำเจ้าพระยาด้วยในสมัยรัชกาลที่ 5

กรมเจ้าท่าได้ใช้ "ป้อมป้องปัจจามิตร" เป็นสถานที่ตั้งเสาธงสัญญาณสำหรับชักธงแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าออกว่าเป็นเรือของบริษัทใด และมีบ้านพักของข้าราชการกรมเจ้าท่า ผู้ดูแลเสาธงบริเวณป้อมด้วย ต่อมาใช้สมัยรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายเสาธงสัญญาณบนป้อมลงมาอยู่บริเวณใกล้ตัวป้อม คือ ที่ตั้งในปัจจุบัน ส่วนบ้านพักของข้าราชการกรมเจ้าท่าบนป้อมยังมิได้รื้อถอน

ในปี พ.ศ. 2492 ป้อมป้องปัจจามิตร มีสภาพทรุดโทรมมาก เทศบาลนครธนบุรี ในสมัยนั้นจึงดำริจะรื้อป้อมทิ้งเพื่อปรับสถานที่ และจะนำเศษอิฐเศษปูนไปถมถนนต่างๆ กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียน "ป้อมป้องปัจจามิตร" เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2492

"วัดเศวตฉัตร" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร หน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก หลังวัดอยู่ริมถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร หมายเลขที่วัด ๑๔๐๑ “พระเจ้าอัยกาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์” (พระองค์เจ้าฉัตร ต้นสกุล ฉัตรกุล) ทรงสร้างในระหว่าง พ.ศ. 2359-2373 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดเศวตฉัตร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้สร้างวัด

ปูชนียวัตถุสำคัญของวัด เช่น พระพุทธรูปบางสมาธิ พระนามว่า “พระพุทธสมาธิคุณสุนทรสมาทานบุราณสุคต ”(หลวงพ่อโบสถ์บน), พระพุทธรูปพระนาคปรก พระนามว่า “พระพุทธอังคีรสมุนีนารถอุรคอาสน์อำไพ”, พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่า “พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์อัครวิบูล”, พระพุทธไสยาสน์ 1 องค์ พระนามว่า  “พระพุทธบัณฑูรมูลประดิษฐสถิตไสยาสน์”, พระปรางค์ฐาน 2 ชั้น 8 เหลี่ยม ย่อไม้สิบสอง วัดผ่าศูนย์กลาง 13.00 ม. สูงประมาณ 20.00 ม. ชั้นบนทำเป็นซุ้มจระนำ บรรจุพระพุทธรูป 4 ด้าน ประดิษฐานอยู่ด้านหลัง ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารต่อกัน สร้างขึ้นในสมัยสร้างวัดพร้อมพระอุโบสถและพระวิหารตามผังที่นิยมสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

"คริสตจักรที่ 1 สำเหร่" เป็นโบสถ์โปรแตสแตนท์ สังเกตจากความเรียบง่าย เพดานเป็นไม้สัก ไม่มีการใช้ตะปู จึงได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ พ.ศ. 2547 เดิมพื้นก็เป็นไม้สัก แต่น้ำท่วมทุกปีจนพัง จึงเปลี่ยนมาใช้หินอ่อน ตามประวัติบอกว่า พ.ศ. 2392 คณะมิชชันนรีเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) จากอเมริกามาตั้งบ้านเรือนแถววัดอรุณ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็ตั้งอยู่ที่นั่น แล้วย้ายมาสำเหร่ ต่อมาตัวโรงเรียนย้ายไปถนนประมวญ แต่โบสถ์ยังอยู่ที่นี่ พ.ศ. 2403 สร้างพระวิหารหลังใหม่คล้ายหลังเก่า ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,000 บาท จากเงินบริจาค 2 ปีต่อมาจึงสร้างหอระฆัง ซึ่งโบสถ์หลังปัจจุบันมีอายุกว่า 90 ปี

พวกเราปิดทริปที่สนุกสนาน ประทับใจในการพูดคุย ดูแลกันตลอดการเดินทาง และยังได้รู้จักสถานที่ที่เราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน จนต้องอุทานออกมาในใจว่า "มีสถานที่แบบนี้ในกรุงเทพฯ ด้วยเหรอเนี่ย!"

แหล่งข้อมูล : อินเตอร์เน็ต, ป้ายข้อมูลของ กทม. ตามสถานที่ต่างๆ และวิทยากรผู้บรรยาย