พวกเราไม่รีรอ เพราะเพิ่งเดินผ่านมาเพียงครึ่งทาง โดยที่ยังไม่รู้ว่า ข้างหน้าจะเจอกับสภาพป่าแบบใด แต่เส้นทางช่วงนี้ สวยมาก อากาศสดชื่น บนความสูงถึง 2,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
คงไม่ดีนักหากจะใช้การวิ่ง เพราะเส้นทางลาดชันพอดู ดังนั้น ก็เดินไป ชมดอกไม้ใบหญ้า ชิลชิล เพียงแต่ไม่แวะนานเกินไป
ดอกอะไรไม่รู้ แต่ที่รู้คือ ออกดอกเต็มต้น
ไหนจะสู้ความงามของ กุหลาบพันปีสีแดง เช่นนี้ได้
พยายามยื่นกระบอกเลนส์ให้ซูมมากที่สุดเท่าที่ระยะ 85 mm ทำได้ เพื่อเก็บภาพความงามให้ใกล้ชิด
คนนำทาง ยื่นผลไม้ป่าให้ลองชิมกัน จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่รสชาดไม่ได้เรื่องนัก คงไม่ใช่ "บลูเบอรี่" ไม่เช่นนั้นคงไม่เดินต่อ ขอนั่งกินให้หมดอยู่ตรงนั้น
ฐานที่ 14 ป่าร้อน ป่าหนาว ... ยังเหลืออีก 7 ฐาน
มองผ่านเมฆหมอกไปยังเบื้องล่าง เห็นเนินเขา และมีบ้านคนอยู่บ้าง นึกอิจฉาอยากมีบ้านพักตากอากาศแถวนี้บ้าง ซึ่งกลางคืนคงหนาวสะใจ
เดินรั้งท้าย มองย้อนไปอีกฝั่ง
ไม่มีใครแน่นอน เพราะเราเป็นก๊วนสุดท้ายของการเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติของวันนี้
สมดังตั้งใจแล้ว ที่อยากมาชมความงามของ "กุหลาบพันปี" ริมหน้าผา ซึ่งเคยอ่านหนังสือท่องเที่ยวผ่านสายตามาหลายฉบับ จนได้มาสัมผัสกับสายตาตัวเองในครั้งนี้
เคยเห็นที่ปลูกในสวน หรือกระถาง แต่ไม่ได้ความรู้สึกเหมือนที่อยู่ในป่าเขาตามธรรมชาติ
และแล้วเราก็ได้เห็น .... จากมุมนี้ ซึ่งเมื่อช่วงเช้าเราเพิ่งไปเดินเที่ยว ณ จุดนั้น
ถือเป็นความโชคดีอย่างมาก ที่ได้เห็นเจดีย์ทั้ง 2 องค์ชัดเจน เพราะเพียงไม่ถึงนาที เมฆก็ลอยผ่านและบังจนมิด มองไม่เห็น ซึ่งต้องรออีกนานกว่าเมฆหมอกลอยผ่านไปอีกครั้ง
กดที่นี่ (+)= เพื่ออ่านเรื่องราว "นภเมทนีดล นภพลภูมิสิริ" 2 พระมหาธาตุเจดีย์ แห่งดอยอินทนนท์
เริ่มเข้าสู่ฐานต่อไป ซึ่งเข้ายังบริเวณป่าอีกครั้ง
ได้เจอกับก๊วนก่อนหน้า ที่กำลังนั่งพัก เลยพูดคุยกันสนุกสนาน
"ป่าสองรุ่น" ป่าบริเวณนี้มีต้นไม้ไม่กี่ชนิด ที่ขนาดและความสูงเกือบเท่ากัน เป็นรหัสบอกว่า ป่านี้ในอดีตเคยโค่นล้มจากลมพายุแล้วมีต้นไม้รุ่นใหม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
ป่าเขาสูงชัน หน้าดินมักถูกฝนชะล้างจนมีความหนาเพียง 1 - 2 เมตร รากไม้จึงมักหนาแน่นอยู่เพียงหน้าดินที่มีแร่ธาตุอาหารสะสมอยู่ ทำให้ต้นไม้สูงที่เห็นมักไม่มีรากแก้ว ด้วยไม่สามารถหยั่งลงเจาะหินได้ เพื่อความอยู่รอด รากจึงได้แผ่เป็นแผ่นยึดไว้ แต่หากมีพายุใหญ่กระโชกแรง รากค้ำยันไม่อาจต้านทาน จึงทำให้ต้นไม้ใหญ่ล้มได้
กูดต้น เป็นเฟินใบใหญ่เรียงวนรอบปลายต้น เรือนยอดกว้าง ทรงยังให้ตรงด้วยลำต้นสั้นและแข็งแรง เป็นพืชสัญลักษณ์ของป่าบริสุทธิ์ กล่าวคือ การไม่พบเฟินกูดต้นในที่แดดจัด จึงสันนิษฐานว่า ป่านี้ไม่เคยถูกหักโค่นหรือเปิดโล่งมาก่อน
หลงไหลเฟิน ไม้ประเภทนี้มากเป็นพิเศษ เคยพยายามปลูกสะสมได้กว่า 20 ชนิดที่บ้านเหมือนกัน
"เสียงป่า" เป็นลูกเล่นที่ดีมาก เพราะเชื่อว่า ทุกคนที่เดินมาถึงจุดนี้ ย่อมอยากนั่งพัก ได้ยินเสียงป่า เสียงลมหายใจของตัวเอง และของเพื่อนร่วมทาง ... หอบแฮกๆ
หลังจากฟัง เสียงป่า ก็เดินต่อไปยังจุดหมาย ระหว่างทางเจอต้นไม้แปลกๆ ตามทาง ที่อยากให้ต้องเดินอย่างระมัดระวัง เพราะมักพบตามเส้นทางเดิน ต้องระวังไม่ให้เดินเหยียบ
มาถึงจุดหมายปลายทาง ฐานที่ 21 ขอสรุปสั้นๆ คำเดียวว่า "สุดยอด"
อีกคำคือ "ประทับใจ"
หากใครมาเยือนดอยอินทนนท์ อยากให้ออมแรงมาเดิน "กิ่วแม่ปาน" กันด้วยนะ
ภาพเส้นทางทั้ง 21 ฐาน ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร สวยประทับใจตลอดเส้นทาง
บันทึกผู้ร่วมทริป พร้อมผู้นำทาง
อยากชวนให้มาเที่ยวกัน
เข้าใจป่า เข้าใจธรรมชาติ จะได้มองเห็นว่า ป่าเกิดได้อย่างไร ป่าอยู่ได้อย่างไร ยอมรับว่าเพิ่งเข้าใจว่า ทำไมต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่าจึงล้มง่าย เพราะรากแก้วไม่สามารถไขชอนลงชั้นหินได้ ทำให้ไม้จำเป็นต้องแผ่รากไปแทน เป็นต้น
ยังนึกไม่ออกเลยว่า เราจะปลูกป่ากันอย่างไร นับวันฝนจะตกหนัก ปริมาณน้ำมาก พายุหลายลูก ย่อมชะล้างต้นไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ไปได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น คงต้องร่วมมือกัน เดินไปในแนวเดียวกัน ในการอนุรักษ์ และปลูกป่าใหม่ทดแทนอย่างจริงจัง เพื่อวันนี้และอนาคตของประเทศ อนาคตของลูกหลานต่อไป