ระหว่างเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ จากทริปเยือนลาวใต้ เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็มีโอกาสได้แวะเที่ยวยัง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งเคยได้ยินเรื่องราวต่างๆ มาหลากหลาย ไม่ว่าจะปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน รวมถึง ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งได้มาเห็นกับตาในครั้งนี้
หลังจากได้บัตรผ่านประตูมาแล้ว ก็ได้เวลาเดินเข้าไปชมยัง ปราสาทหินพนมรุ้ง ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา
องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน
พวกเราขอบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก กับโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของชาติไทย ของพวกเราทุกคนที่ภูมิใจในสมบัติของชาติ
เดินขึ้นมาถึงบริเวณปราสาทหิน มีสระน้ำซ้ายขวาทางด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง
มองเห็นประตูทางเข้า เพื่อเดินลอดเข้าไปสู่ภายใน สังเกตเห็นบานประตูเป็นแนวตรง โดยในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน ช่องชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน นอกจากนี้ในวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็ตก ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน
มองเห็น ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อยู่ตรงแต่ขอไปเดินชมรอบๆ ก่อนมาเก็บรายละเอียดจุดนี้อีกครั้ง
มาถึงตัวปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งเป็นปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร
ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17 ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น
ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย จากหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่า ปราสาททั้งสามหลังได้สร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตามลำดับ ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารสองหลังก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา ก่อสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18
ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น พระศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระราม (ในเรื่องรามเกียรติ์) หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤๅษี เป็นต้น
ได้บันทึกภาพป้ายแสดงรายละเอียดมาไว้ด้วย
รวมทั้งซูมเลนส์ให้เห็นรายละเอียดที่อย่างชัดเจน
ปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤๅษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16
แดดร่มลมตก มองเห็นฝรั่งคนนี้ ที่พยายามถ่ายภาพทับหลังแต่ละมุมด้วยความสนใจ เราก็ยิ่งภูมิใจที่ได้สมบัติชิ้นนี้คืนกลับมายังผืนแผ่นดินไทย
แต่ก็มีความเสี่ยงจากการถูกทำลายเช่นกัน อย่างเหตุการณ์คืนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนเข้าทุบทำลาย รูปปั้นทวารบาลและสัตว์พาหนะ รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ โดยลักษณะเป็นการทำลายแขนเทวรูปก่อน แล้วจึงนำแขนเทวรูปไปทุบกับใบหน้าสัตว์พาหนะอื่นๆ
เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องหวงแหน รักษาไว้ชั่วลูกหลานสืบต่อไป
ด้วยความบังเอิญที่ระหว่างเดินกลับ พบกับนักศึกษาในชุดเครื่องแต่งกายโบราณสวยงามแบบนี้ เรียกได้ว่า เหมือนพวกเราได้ผ่านกาลเวลาย้อนอดีตไปในยุคอาณาจักรขอมรุ่งเรือง
เป็นความสุข ความประทับใจจากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ซึ่งหาได้ง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวในบ้านเมืองของเรา จึงอยากเชิญชวนให้มาเที่ยวกัน
แหล่งข้อมูล : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี