ตั้งใจไว้นานมากๆ ว่า อยากมาท่องเที่ยวที่อำเภอสังขละบุรี ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งที่ติดกับชายแดนพม่า จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยคำพูดของใครต่อใครที่ได้มาเยือนว่า "ไกลมากๆ นั่งรถนานมาก กว่าจะถึงสังขละบุรี" ยิ่งทำให้รู้สึกอยากมาเที่ยว มาพิสูจน์ว่าจะเดินทางไกลขนาดไหน
พอได้รับคำชวนทริปเมื่อปลายปีที่แล้ว จึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล และยังได้มาสัมผัสอากาศหนาวเย็นในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาอีกด้วย นอกเหนือจากการมาท่องเที่ยวเมืองน่ารักแห่งนี้ ยังได้มาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวมอญอีกด้วย ได้พบเจออะไรแปลกใหม่หลากหลาย รวมทั้ง "กล้วยนาก" เป็นกล้วยเปลือกสีอมแดงค่อนข้างคล้ำคล้ายนาก รสชาติเหมือนกับการเคี้ยวกล้วยหอมกับกล้วยไข่พร้อมกัน มีขนาดใหญ่มาก แถมรสชาติอร่อยอีกด้วย ซึ่งชาวมอญและชาวพม่านิยมรับประทานกัน
แต่เป้าหมายที่สำคัญในการมาท่องเที่ยวยังเมืองสังขละบุรีแห่งนี้ คือ มาชม "สะพานไม้อุตตมานุสรณ์" หรือที่ เรียกกันว่า "สะพานมอญ” ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
มีความสวยงามคลาสสิก เนื่องจากเป็นสะพานที่ทำด้วยไม้ จนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือแลนด์มาร์คของสังขละบุรี ที่ไม่ว่าใครมาเยือนนั้นต้องแวะมาสัมผัสให้ได้
เมื่อวันที่ 28 ก.ค.56 ได้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง และน้ำจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทะลักลงมาสมทบ ทำให้แพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำซองกาเลียพร้อมทั้งท่อนไม้ที่ลอยมากับน้ำกระแทกตอม่อจนต้านไม่ไหว ทำให้ช่วงกลางสะพานพังลงเป็นระยะทางรวมกว่า 50 เมตร
หลังจากเกิดปัญหาที่บริษัทเอกชนที่รับงาน ไม่สามารถส่งมอบงานซ่อมแซมสะพานได้ จนในที่สุดทางจังหวัดกาญจนบุรีได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชน และให้ทหารช่างจากค่ายสุรสีห์ รวมถึงชาวมอญสังขละบุรี อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมมือกันช่วยกันซ่อมแซมสะพานมอญเอง ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557 ใช้เวลาเพียง 1 เดือน 18 วัน การซ่อมแซมก็สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านรวมถึงผู้คนที่เอาใจช่วยกันอย่างล้นหลาม เป็นเหตุให้สะพานไม้มอญแห่งนี้เชื่อมต่อถึงกันอีกครั้ง ก่อเกิดเป็นแรงศรัทธา ความรัก ความสามัคคี ความสุข และวิถีชิวิตแบบเดิมกลับคืนมา
ถึงวันนี้ทุกอย่างดูบรรยากาศสวยงาม ผู้คนคึกคัก และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเยือน
ถึงเวลาล่องเรือไปชมเมืองบาดาล ซึ่งในอดีตเป็น "วัดวังก์วิเวการาม" (เดิม) ที่หลวงพ่ออุตตมะและชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญได้ร่วมกันสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2496
เดินทางกันด้วยเรือหางยาว ลำไม่ใหญ่นัก สำหรับนักท่องเที่ยว 6 คน
แต่สำหรับลำนี้ ยังนำจักรยานลงเรือไปด้วย .. สำหรับภูเขาแถบนี้ยังมีความสมบูรณ์ด้วยต้นไม้หนาทึบ ซึ่งหาได้ยากในบ้านเรา จึงควรอนุรักษ์ไว้อย่างดี
มองเห็นเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำหนัก 400 บาท เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่หลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
หลวงพ่ออุตตามะให้สร้างจำลองขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาติ กระดูกนิ้วหัวแม่มือขวาของพระพุทธเจ้าที่มีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ไว้เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน
เจดีย์แบบพุทธคยา มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
นั่งเรือมาไม่นานนัก ก็มองเห็นโบสถ์ที่โผล่พ้นน้ำ นั่นคือ "เมืองบาดาล"
ในอดีตเป็น วัดวังก์วิเวการามเดิม ที่หลวงพ่ออุตตมะและชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและมอญได้ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ในบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน
เรือจอดเทียบบริเวณพื้นดิน เพื่อให้เข้ามาท่องเที่ยวกัน
ในปี พ.ศ. 2527 มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม (เขื่อนวชิราลงกรณ) ทำให้น้ำท่วมตัวอำเภอสังขละบุรีเก่า รวมทั้งวัดนี้ด้วย หลวงพ่อจึงได้ย้ายมาสร้างวัดมาอยู่บนเนินเขา ส่วนวัดเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำมานานนับสิบปี จนได้ชื่อเรียกว่า "เมืองบาดาล"
เดินเข้ามาเที่ยวชมโบสถ์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราได้ไปท่องเที่ยวยัง วัดวังก์วิเวการาม (วัดหลวงพ่ออุตตะมะ) มีวิหารริมแม่น้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงาม
และเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" ซึ่งประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งกระเหรี่ยง และพม่า ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เคารพนับถือ และสร้างวัดวังก์วิเวกการามในปี พ.ศ. 2499
หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านที่เป็นชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญได้พร้อมใจกัน สร้างศาลาวัดขึ้น และสร้างเสร็จในเดือน 6 ของปีนั้นเอง แต่เนื่องจากยังมิได้มีการขออนุญาตจากกรมการศาสนา วัดที่สร้างเสร็จจึงมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ"
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "Unseen in Thailand" อีกด้วย
จากนั้นก็ต้องรีบลงเรือ เพื่อไปเที่ยวยังวัดอีกแห่ง นั่นคือ วัดสมเด็จ (เก่า)
ซึ่งต้องแข่งกับเวลาก่อนที่พระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้าในวันนี้
บรรยากาศเริ่มสวย มีสีสันเปลี่ยนไปอีกรูปแบบ
ไม่นานนักก็มาถึงฝั่ง และต้องเดินเท้าอีกซัก 300 เมตร เพื่อมายังวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ
ท้องฟ้าใสไร้เมฆ มองเห็นเครื่องบินแต่ละลำ จะมีไอน้ำ (Contrail) เป็นทางยาวสีขาว
อุโบสถของวัดสมเด็จ (เก่า) ที่ถูกทิ้งร้าง เมื่อคราวย้ายเมืองสังขละบุรีตอนที่เริ่มมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม (เขื่อนวชิราลงกรณ) วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ซึ่งไม่ได้จมอยู่ใต้น้ำ ภายในอุโบสถมีพระประธานสภาพยังค่อนข้างสมบูรณ์ รอบตัวโบสถ์มีต้นไทรใหญ่ปกคุลมดูขลังและเก่าแก่ แต่งดงามยิ่งนัก เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้เดินไปถ่ายภาพโดยรอบ
กลับมายังเรือเพื่อเดินทางกลับไปยังสะพานมอญก่อนฟ้าจะมืด ... มองเห็นชาวมอญเทินสิ่งของไว้บนศีรษะ อย่างชำนิชำนาญราวกับของที่เทินอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
และได้ยืนมองพระอาทิตย์ลาลับทิวเขานั้น
เกิดแสงสีส้มสวยไปทั่วบริเวณ ได้ภาพความประทับใจมาเก็บไว้อีกชุด
ซึ่งไม่ได้มีโอกาสมาพบเจอบ่อยนักในบรรยากาศแบบนี้
ธรรมชาติเมืองไทย ยังคงงดงาม และอยากชวนมาเที่ยวกัน
โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวของเดือนมกราคมเช่นนี้ ได้เห็นฟ้าสวย และบรรยากาศดีมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สังขละบุรี" เมืองที่มีวัฒนธรรมแบบมอญที่ยังคงอยู่และค่อนข้างชัดเจน ไม่ได้สูญหายไปกับกาลเวลา
เรือหางยาวก็พาแล่นผ่านยังวัดอีกแห่งหนึ่งที่จมอยู่ใต้น้ำก่อนวกกลับไปทางสะพานมอญ
ชาวมอญที่นี่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืช และทำประมงชายฝั่ง
เป็นภาพบรรยากาศที่ดูมีชีวิต และอยากให้คงอยู่แบบนี้ไปตราบนานเท่านาน
บริเวณใกล้กับ เจดีย์พุทธคยาจำลองนี้ มีร้านจำหน่ายสินค้าจากพม่าหลายร้านจำพวก เครื่องประดับ ผ้า แป้งพม่า (ทานาคา) เครื่องไม้ เป็นต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีการจัดงานคล้ายวันเกิดหลวงพ่ออุตตมะ ในงานมีกิจกรรมต่างๆประกอบด้วยพิธีกรรม ทางศาสนา การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงของชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และ ในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของ ชาวไทยรามัญและจัดเตรียม สำรับอาหารทูนบนศีรษะไปถวาย พระสงฆ์ที่วัด
เหมือนได้เที่ยวชมวิถีชีวิตชาวมอญ และธรรมชาติสวยงามได้ง่ายๆ ในเวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง
ได้มีโอกาสเก็บบันทึกภาพมาเป็นความทรงจำดีๆ และบันทึกการเดินทางให้ย้อนกลับมาอ่านได้
และแบ่งปันความสุข ความประทับใจ อยากชวนให้ได้มาเยือน
ที่อำเภอสังขละบุรีแห่งนี้ ด้วยระยะเวลาการเดินทางราว 3 ชั่วโมงครึ่ง ก็ได้สัมผัสกับอีกบรรยากาศหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายมอญได้อีกด้วย