Disable Preloader




บันทึกการเดินทาง วางแผนเที่ยวแม่ฮ่องสอน ตอนปลายหนาว # 4

หลังจากทานอาหารเช้าที่ “บ้านรักไทย” แล้ว พวกเราก็เดินทางกลับโดยใช้เส้นทางเดิม แต่ก็เปิด Google Maps เพื่อให้ช่วยนำทางไปยัง "ซูตองเป้"  

ระหว่างทางก็อดไม่ได้ ขอแวะเติมความสดชื่นด้วยกาแฟร้อนที่ร้าน Coffee Camp ท่ามกลางมวลดอกไม้ด้วยการตกแต่งแบบสวนอังกฤษ จากนั้นก็มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายที่ชื่ออาจฟังแปลกหู ไม่คุ้นเคยนัก แต่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่น่าพลาด หากมาเยือนเมืองสามหมอกแห่งนี้

สะพานซูตองเป้” เป็นสะพานไม้ไผ่ ตั้งอยู่ที่บ้านกุงไม้สัก อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความกว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร คำว่า “ซูตองเป้” เป็นภาษาไทยใหญ่ มีความหมายว่า “ความสำเร็จ” ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้มายืนอยู่กลางสะพานแล้วอธิษฐานขอความความสำเร็จใดๆ ก็จะพบกับความสมหวัง นับว่าเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

“สะพานซูตองเป้” เชื่อมต่อระหว่าง “สวนธรรมภูสมะ” และ “หมู่บ้านกุงไม้สัก” ซึ่งที่ สวนธรรมภูสมะ ยังมี “พระเจ้าพาราซูตองเป้” หรือ “พระพุทธสามัคคีอธิษฐานมหาจักรพรรดิ์” หรือที่หลายคนเรียกว่า “มหาจักรพรรดิ์อธิษฐานสำเร็จ” ประดิษฐานอยู่กลางลานเพื่อให้สักการะ ในส่วนด้านหลังจะเป็นเขตกุฏิ หอฉันและโรงครัว

“สะพานซูตองเป้” เชื่อมต่อระหว่าง “สวนธรรมภูสมะ” และ “หมู่บ้านกุงไม้สัก” ข้ามผ่านทุ่งนาและแม่น้ำสายเล็กๆ ชื่อ ลำน้ำแม่สะงา

สะพานแห่งนี้ใช้เวลาสร้างเพียง 2 เดือน จากน้ำพักน้ำแรงและพลังศรัทธาของชาวบ้านกุงไม้สัก โดยไม้ที่ใช้ในการทำสะพานมิได้ซื้อมาแต่อย่างใด หากแต่มาจากการบริจาคเสาบ้านรวมถึงเสาไม้ที่ไม่ใช้แล้วของชาวบ้านนำมารวมกัน ก่อสร้างเป็นสะพานแห่งนี้ขึ้น เพื่อให้พระภิกษุสามเณรออกรับบิณฑบาตร ถือเป็นสะพานไม้แห่งศรัทธา เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 

ซึ่งในตอนเช้าราว 06:00 น. ของทุกวัน จะมีพระสงฆ์ สามเณร เดินบิณฑบาตรและมีชาวบ้านมานั่งรอเพื่อตักบาตรกัน ซึ่งน่าจะเป็นภาพความงาม แต่เสียดายที่วันนี้เดินทางมาถึงก็เกือบเที่ยงวันจึงไม่ได้เห็นภาพแบบนั้น แต่ก็ได้มีโอกาสพบเณร 2 รูป ที่เดินข้ามสะพานนี้พอดี 

การเดินทางจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประมาณ 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1095 จากนั้นเราสามารถเดินทางเข้าสู่สะพาน ซูตองเป้ ได้สองเส้นทางดังนี้

1. เข้าทางแยกหมู่บ้านกุงไม้สัก เลี้ยวซ้ายทางไปภูโคลนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงแยกเข้าหมู่บ้านให้ลอดซุ้มประตู เข้าไปทางขวามือตามถนนในหมู่บ้าน โดยสามารถจอดรถไว้ที่วัดกุงไม้สักได้

2. เข้าทางแยกสวนธรรมภูสมะ เลี้ยวซ้ายจากปากทางผ่านถนนลูกรัง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยจอดรถที่สวนธรรมภูสมะได้ 

ก็จะได้สัมผัสทั้งธรรมชาติ ทั้งความเลื่อมใสศรัทธา ที่ยึดเหนี่ยวให้ชุมชนมีความรักสามัคคี 

ได้เวลาเดินทางกันต่อ ระหว่างทางไปถึง อ.ปาย นั้น ยังมีจุดน่าแวะเที่ยวอีกแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (แม่ฮ่องสอน-ปาย) กิโลเมตรที่ 191-192

ถ้าปลาเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ ในโพรงหิน กว้างประมาณ 2 เมตร ลึก 1.5 เมตร มีลำธารไหลผ่านออกมาจากใต้ภูเขาตลอดเวลามาบรรจบกับลำน้ำแม่สะงี ภายในโพรงหินเป็นที่อาศัยของ ปลาพลวงหิน หรือ ปลามุง ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับปลาคาร์ฟ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากๆ โดยรอบ

ที่แปลกคือ ปลานับพันตัวเหล่านี้ กินผักเป็นอาหาร บางตัวมีน้ำหนักราว 7-10 กิโลกรัม 

และในช่วงฤดูฝนปลาพลวงหินจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ แต่ก็ไม่มีใครทราบได้ว่าไปวางไข่ตรงไหน

เป็นความมหัศจรรย์และความลับของธรรมชาติ ... จากนั้น เราก็รีบเดินทางเข้าที่ตัวอำเภอปาย หลังจากทานอาหารค่ำกันแล้ว ก็เช็คอินเข้าที่พัก 

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้มีโอกาสมาท่องเที่ยวปาย โดยพักค้างคืนเพียง 1 คืน ระหว่างนั่งรถเพื่อเดินทางกลับ ก็ผ่านเส้นทางที่ลัดเลาะไปทางภูเขาเพื่อออกไปทางเส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (ปาย - แม่มาลัย) ใกล้กับสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย ก็มองเห็นป้ายของรีสอร์ทแถบนี้หลายแห่ง

โดยสะดุดเข้ากับคำว่า "Hot Springs" และ "โป่งน้ำร้อนท่าปาย" จึงตั้งใจไว้แล้วว่า จะหาโอกาสมาแช่ออนเซ็นแบบไทยๆ ที่นี่้ดูบ้าง มาทริปนี้จึงสบโอกาสเลือกมาพักซะเลย และมาซึมซับบรรยากาศธรรมชาติของเมืองปายอย่างเต็มที่ ... บรรยากาศยามเช้าที่มีไอหมอกขาวลอยอยู่เหนือลำน้ำปาย

ซึ่งเช้านี้อากาศยังคงหนาวเย็นอยู่ ถือโอกาสเดินเล่นรอบที่ ปาย ฮอทสปริง สปา รีสอร์ท

เก็บบรรยากาศยามเช้าที่สวยงามเหนือลำน้ำปาย

รวมไปถึงบ่อแช่น้ำร้อน ซึ่งเมื่อคืนพวกเราได้มาแช่ท่ามกลางอากาศหนาวกันแล้ว ซึ่งรีสอร์ทแห่งนี้ไม่ไกลจาก “โป่งน้ำร้อนท่าปาย” เป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อยู่ใกล้ตัวเมืองปาย เหมาะที่จะมาเล่นน้ำ อาบน้ำแร่ แบบธรรมชาติที่นี่ เพราะเขามีบ่อแช่แบบธรรมชาติมาก ไม่ได้เป็นห้องเป็นอาคาร แต่เป็นบ่อตามสภาพเดิม และยังสามารถเดินเที่ยวชม หรือทำกิจกรรมต้มไข่ก็ได้ ความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส ในบริเวณจุดกำเนิดน้ำแร่

เช้านี้จึงขอเก็บบรรยากาศอุ่นๆ มาฝากกัน ซึ่ง Pai Hot Springs Resort แห่งนี้ก็ต่อท่อน้ำแร่ตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อนท่าปาย เพื่อให้บริการบ่อแช่น้ำแร่ทั้งที่ห้องพักแต่ละห้อง หรือจะเป็นบ่อรวมชาย-หญิงกลางแจ้ง แต่สามารถสวมชุดว่ายน้ำได้ ไม่ได้ถอดแบบออนเซ็นของญี่ปุ่น

พบเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่เห็นนักท่องเที่ยวคนไทยเลย

เสน่ห์ของเมืองปาย น่าจะอยู่ที่ความเงียบสงบ และธรรมชาติที่ยังมีความหลากหลาย

มีลำน้ำปาย และแหล่งน้ำพุร้อนหลายจุด หากพัฒนาการท่องเที่ยวให้น่าสนใจ มีรูปแบบแปลกใหม่ เช่น ออนเซ็นกลางแจ้ง หรือ ริมแม่น้ำปาย ก็น่าจะทำได้ อย่างในตอนที่ 1 พาไปเที่ยวชม บ่อน้ำพุร้อนบ้านเหมืองแร่ ที่น้ำร้อนที่พวยพุ่งออกมา ก็ไหลลงไปยังลำน้ำปายโดยเปล่าประโยชน์อย่างน่าเสียดาย

มาเจอะเข้ากับผลไม้มหัศจรรย์ที่ผู้กล่าวไว้ว่ามีผลดีว่าคีโม 10,000 เท่า คือ ทุเรียนน้ำ หรือ ทุเรียนเทศ ยอดสมุนไพรพิฆาตมะเร็ง หน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง

ได้เวลาอาหารเช้าก่อนท่องเที่ยวกันต่อทั้งวัน ซึ่งค่ำวันนี้จะต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเที่ยวบิน DD8325 เวลา 20:40 น.

มาถึงปายทั้งที ก็ต้องหาโอกาสมาสักการะพระใหญ่ที่ “วัดพระธาตุแม่เย็น” เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เอกลักษณ์ของเมืองปาย ตั้งอยู่บนเขาทางทิศตะวันออกหลังหมู่บ้านแม่เย็น ห่างจากตัวเมืองปายมาประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านหลังโบสถ์เป็นที่ตั้งเจดีย์เก่า สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอปายได้ทั่วถึงทั้งบ้านเรืองและทุ่งนา ยิ่งถ้าได้ขึ้นไปในตอนเย็นจะได้ชมพระอาทิตย์ตกโดยมีเทือกดอยจิกจ้องเป็นฉากหลังที่งดงาม และพระธาตุแห่งนี้เป็นจุดสังเกตของผู้โดยสารทางเครื่องบินว่าเข้าเขตอำเภอปายแล้ว   

หลังจากนั้น ก็ขับรถเพื่อเดินทางกลับเข้า จ.เชียงใหม่ ผ่านมาทาง แต่ยังนึกเสียดายที่เวลาไม่เพียงพอในวันนี้ จึงไม่ได้เลี้ยวเข้าไปเที่ยวชม “โป่งน้ำร้อนท่าปาย” ระหว่างทางก็พบช้างเดินบนถนน ก็นึกขึ้นได้ว่ามีกล้วยน้ำว้า 1 หวี ที่อุดหนุนชาวบ้าน ที่ช่วยบอกทางไป บ่อน้ำพุร้อนบ้านเหมืองแร่ เมื่อวันก่อน จึงชะลอรถเพื่อยื่นส่งกล้วยหวีนั้นให้กับควานช้าง เพื่อส่งต่อให้นักท่องเที่ยวคู่นั้น ได้ป้อนกล้วยน้ำว้าให้ช้างเชือกนั้น

พวกเราก็ดีใจที่ไม่ต้องหิ้วกล้วยหวีนั้นขึ้นเครื่องกลับบ้าน ... นักท่องเที่ยวก็ดีใจที่ได้ป้อนกล้วยให้ช้าง สร้างความประทับใจเมืองไทย ... ช้างก็ดีใจที่ได้กินกล้วย ... ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายจริงๆ 

ระหว่างทางยังต้องแวะที่ “อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง” ไม่เช่นนั้น จะถือว่าเที่ยวไม่ครบ ซึ่งอุทยานแห่งชาตินี้ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพป่าและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร

 มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามและจุดชมวิวที่สามารถชมบรรยากาศอันร่มรื่น โดยเฉพาะบริเวณห้วยน้ำดัง ที่มีชื่อว่า “ทะเลหมอกที่งดงามยิ่ง มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย” 

จำได้ว่าเมื่อ 20 ปีก่อน มีโอกาสเข้ามาที่นี่ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ซึ่งเจอฝนตกตลอดทาง และพอเข้ามาถึงยังบริเวณนี้ จะมืดสนิทเต็มไปด้วยหมอกขาว และอากาศหนาวเย็นมาก ทั้งที่อยู่ในช่วงบ่ายๆ ของหน้าร้อนของเดือนเมษายน จึงเป็นภาพความทรงจำที่ประทับใจ ไม่มีวันลืมเลือน

“อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง” มียอดดอยที่มีธรรมชาติงดงามอีกหลายแห่ง เช่น ดอยช้าง ดอยสามหมื่น รวมทั้งมีโป่งเดือดซึ่งเป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติ ส่วนการล่องแพในลำน้ำแม่แต่งก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 782,575 ไร่ หรือ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร

สภาพอากาศโดยทั่วไปเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส อากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 8 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง นั้นคาบเกี่ยวพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง อยู่บริเวณที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก มองเห็นดอยเชียงดาว คอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่ได้  และในช่วงปลายฤดูหนาวดอกไม้กำลังบานสวยงามมาก 

การเดินทางจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 107 และเข้าทางแยกซ้ายมือที่ตลาดแม่มาลัย อำเภอแม่แตง ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่-มาลัยปาย จนถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 65 - 66 มีทางแยกขวามือ ซึ่งมีป้อมยามตั้งอยู่ทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร เดินทางต่อไปอีก ระยะประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดชมดอยกิ่วลม 

ถ้าเดินทางต่อไปอีกตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1095 จากหลักกิโลเมตรที่ 66 ไปยังอำเภอแม่ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงบ้านแม่ปิง จะมีทางแยกขวามือเป็นทางของ รพช. หมายเลข มส. 11024 ถึงโป่งร้อน อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง 

อากาศสดชื่น มีลมเย็นพัดเอื่อยๆ ตลอดเวลา ยิ่งใครชอบถ่ายภาพดอกไม้ รับรองว่าต้องชื่นชอบสถานที่แห่งนี้อย่างแน่นอน 

ก่อนกลับออกจากอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ก็ถือโอกาสไปชม “พระตำหนักเอื้องเงิน” อีกด้วย 

 “พระตำหนักเอื้องเงิน” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารทรงชาเลย์ที่ กรมป่าไม้ ได้สร้างถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชทานนามว่า “พระตำหนักเอื้องเงิน” ตั้งอยู่บริเวณดอยกิ่วลม ภูมิทัศน์รอบพระตำหนักมีพันธุ์พืชประจำถิ่นกล้วยไม้ "เอื้องเงินหลวง" ที่ออกดอกสะพรั่งในช่วงเดือนมกราคม และยังมีไม้ดอกไม้ประดับที่เป็นพืชเมืองหนาวที่หลากหลายพันธุ์และหลากสีสัน

มองดูเวลาแล้ว ต้องรีบทำเวลากลับเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเราเดินทางไปยัง เซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เพื่อนำกระเป๋าเดินทางไปส่งและเช็คอินที่สำนักงานย่อยของนกแอร์ได้สะดวกมาก ซึ่งใกล้ถึงเวลาบิน ทางนกแอร์ก็มีรถตู้ไปส่งที่สนามบินอีกด้วย ทำให้เราสามารถส่งคืนรถเช่าได้ที่นี่โดยโทรนัดเวลา ทำให้มีเวลาเหลือเฟือไปนั่งทานอาหาร จิบกาแฟดอยช้าง ก่อนมาขึ้นรถตู้ที่บริการฟรีของนกแอร์ในเวลา 2 ทุ่ม

เป็นทริป 5 วันที่สนุกสนาน ครบรสการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เหมือนได้ใช้เวลาพักผ่อนอย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังได้สัมผัสปลายหนาวได้อย่างเย็นชื่นฉ่ำ ซึ่งการท่องเที่ยวนอกช่วงเทศกาลนั้น เราจะได้สัมผัสอะไรได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงแรมที่พัก ยังประหยัดกว่าอีกด้วย จึงอยากแนะนำเป็นข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนแบบหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม จะต้องกลับมาท่องเที่ยวเมืองเหนืออีกอย่างแน่นอนเป็นประจำทุกปี เพราะชอบอากาศหนาว สายหมอก ขุนเขา ซึ่งมาสัมผัสได้ง่ายๆ ในเมืองเหนือของเราที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหลไม่ลืมเลือน

จบบริบูรณ์